เศรษฐกิจ อีสานรอฟู่ฟ่าหลัง คมนาคม ดันโครงสร้างพื้นฐาน

เศรษฐกิจ คมนาคม อีสาน มนพร โครงสร้างพื้นฐาน
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมการสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน 4 จังหวัด ภาคอีสาน ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ

เศรษฐกิจ การค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวรับอานิสงส์ คมนาคม ทุ่มงบ  79,590 ล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคม ขับเคลื่อน เศรษฐกิจ ในพื้นที่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ “ย้ำ” สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ เสร็จปลายปีนี้   

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมาย ให้เข้าร่วมการสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน 4 จังหวัด ภาคอีสาน ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ

ซึ่งจะจัดขึ้น โดยคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนฯ มีนายอภิชาติ ตรีสวัสดิชัย รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานการสัมมนา ในวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2567 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

นางมนพร กล่าวว่า การเข้าร่วม สัมมนาครั้งนี้ เป็นโอกาส ที่กระทรวงคมนาคม จะได้ทำความเข้าใจ และชี้แจงถึงการขับเคลื่อนงบประมาณของประเทศ ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ที่มีโครงการสำคัญที่อยู่ ระหว่างการก่อสร้าง ทั้งรถไฟทางคู่ และโครงข่ายทางถนน งบลงทุนกว่า 72,340 ล้านบาท

การบริหาร งบประมาณ ประจำปี 2567 อีกกว่า 1,605 ล้านบาท และโครงการสำคัญ ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ ของพื้นที่ ที่อยู่ระหว่าง ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ในปี 2568 อีกว่า 5,645 ล้านบาท ให้มีความเจริญเติบโต

และส่งเสริมความยั่งยืน ทางการคลัง แก่เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด ในพื้นที่ เพื่อให้งบประมาณ ของประเทศ ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณ ลงไปยังประชาชนได้ อย่างทั่วถึง และสร้างประโยชน์ ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว

คมนาคม คาด สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เสร็จพ.ย.ปีนี้

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญ เป็นอย่างยิ่ง กับการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโต แบบยั่งยืน โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคอีสาน ที่มีพื้นที่ติดกับ สปป. ลาว

และสะพานมิตรภาพเชื่อมต่อกัน ถึง 2 แห่ง ที่นครพนม และบึงกาฬ เป็นเขตเศรษฐกิจ ที่มีความพร้อม ในการพัฒนาและมีศักยภาพสูง กระทรวงคมนาคม จึงเร่งพัฒนา โครงข่ายคมนาคม เชื่อม 4 จังหวัด

ทั้งการเดินทางขนส่ง เชื่อมโยงภายในประเทศและ สปป.ลาว-เวียดนาม-จีน โดยมีโครงการขนาดใหญ่ ในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม งบประมาณ 66,785.53 ล้านบาท โครงการก่อสร้าง ทล.2032 งบประมาณ 979.4 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร ทล.212 งบประมาณ 669.4 ล้านบาท และโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 จังหวัดบึงกาฬ (บึงกาฬ – ปากซัน) งบประมาณ 3,906 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนพฤศจิกายน 2567

ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะทำให้เกิดผลดีต่อการค้า การลงทุน การจ้างงาน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจการขนส่ง ของทั้งสองประเทศ ทำให้ประชาชนเดินทาง ได้สะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง ส่งผลไปถึงการเชื่อมต่อ และพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทย เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางตอนใต้ เกิดการขยายตัว ของเมือง ยกระดับจากเมืองรอง ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักได้

งบปี67-68 ยังมีอีกหลายโครงการหนุน เศรษฐกิจ

สำหรับ ในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรร งบประมาณ สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม วงเงิน 1,605 ล้านบาท ได้แก่ โครงการขยายถนน ทล.212 ตอน อำเภอปากคาด-หอคำ เป็น 4 ช่องจราจร

โครงการขยายถนน ทล.22 ตอน สูงเนิน-ท่าแร่ จาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร และโครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 2)-พระธาตุพนม

และอยู่ระหว่าง ขอรับงบประมาณปี 2568 และโครงการในอนาคต อีกหลายโครงการ เช่น การขยายทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจร ทล.222 ตอน อำเภอวานรนิวาส-อำเภอคำตากล้า ทล.22 ตอน อำเภอนาแก่-บ้านต้อง ทล.212 บึงโขงหลง-อำเภอบ้านแพง

รวมถึงโครงการถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี เฟส 2 และ โครงการก่อสร้างถนนสาย นพ.2010 รวมถึงการพัฒนาขยายขีดความสามารถ ของท่าอากาศยานภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโต ด้านการขนส่งทางอากาศ ในพื้นที่ เป็นต้น

การผลักดัน โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ลงสู่พื้นที่ จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อพี่น้องประชาชน  ในการเข้าถึง การคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จะช่วยเชื่อมโยง การพัฒนาทาง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพิ่มโอกาส การเติบโตและ พัฒนาทาง เศรษฐกิจ และการพาณิชย์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และส่งเสริมการค้า การจ้างงาน การลงทุนและการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ยังจะเอื้ออำนวยต่อการที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอนุภูมิภาค แม่น้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับจีนและเอเชียใต้ต่อไป

กระทรวงคมนาคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ”สุริยะ-มนพร“ลงพื้นที่อีสานเร่งพัฒนาคมนาคมขนส่งเต็มสูบ