คมนาคมปิ๊ง! ลดค่าทางด่วนช่วยประชาชน



“สุริยะ” สั่งการทางฯ – สนข. ปรับโครงสร้างทางด่วนทั้งระบบ ศึกษายุบด่านจ่ายเงินซ้ำซ้อน หวังลดภาระประชาชนลั่นหากเอกชนได้รับผลกระทบสูญเสียรายได้ อาจพิจารณาขยายสัมปทานชดเชย

  • พร้อมเร่งกรมรางฯ ให้ส่ง ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…. กลับมายังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอ ครม. และรัฐสภา ต่อไป
  • มั่นใจจะมีผลบังคับใช้ได้ในต้นปี 68 ซึ่งผลจากที่มี พ.ร.บ.รางฯ จะช่วยทำให้กระทรวงฯ เข้าไปกำกับดูแลรถไฟฟ้าทั้งหมด
  • รวมถึงสามารถมีบทปรับ ลงโทษ ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าได้ทันทีหากมีการกระทำผิด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงคมนาคมว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในกทม.ชั้นใน รวมถึงจราจรหนาแน่นหน้าด่านทางด่วนทำให้ผู้ใช้ทางด่วนไม่ได้รับความสะดวกสบายรวมถึงผู้ใช้ทางแบกรับค่าทางด่วนทางในอัตราที่สูง เนื่องจากปัจจุบันมีสัญญาสัมปทานบริหารทางพิเศษจำนวนมาก รวมทั้งยังมีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางหลายจุดในเส้นทางต่อเนื่อง ดังนั้นตนจึงได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หารือร่วมกับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปหารือเพื่อช่วยลดปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้ทาง ด้วยการหาวิธีที่จะลดค่าทางด่วนลง ซึ่งแนวทางดังกล่าวให้ทั้งสองหน่วยงานว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หรือ หากลดค่าทางด่วนแล้ว กระทบต่อผู้รับสัมทานก็ให้พิจารณาขยายสัญญาสัมปทานจากเดิมออกไป เชื่อว่าภายใน 2 เดือนนี้จะได้ข้อสรุปให้เป็นรูปธรรม

“ปัญหาตอนนี้ คือประชาชนมีภาระเยอะจากค่าผ่านทางที่มีหลายด่าน โดยเฉพาะเดินทางในระยะทางที่ไกลก็มีค่าผ่านทางสูงสุดถึง 165 บาท กระทรวงฯ ต้องการลดภาระส่วนนี้ให้กับประชาชน จึงมอบให้การทางฯ และ สนข.ไปศึกษาแนวทางร่วมกัน ซึ่งทราบว่าหลายเส้นทางมีสัญญาสัมปทานอยู่ ก็ให้หาทางเจรจากับเอกชนคู่สัญญา โดยมอบหมายให้ศึกษาแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และนำกลับมาเสนอกระทรวงฯ ใหม่”

ทั้งนี้ ปัจจุบันทางพิเศษพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทพ. โดยมีรวม 7 เส้นทาง แบ่งเป็นการบริหารโดย กทพ.รวม 4 เส้นทาง และการบริหารโดยสัญญาสัมปทาน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษศรีรัช(ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษประจิมรัถยา (ทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)

นอกจากนั้นในส่วนของการแก้ไขปัญหา ถนนพระราม 2 ที่มีการก่อสร้างล่าช้าในหลายๆโครงการนั้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง และทาง ทล. จำกัดเวลาการก่อสร้างให้สร้างได้เฉพาะเวลากลางคืนซึ่งทำให้ผู้รับเหมามีต้นทุนที่สูง

ดังนั้นเพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างถนนพระราม 2 แล้วเสร็จในปี 68 ตนจึงได้สั่งการให้ กรมทางหลวง (ทล.) และกทพ.ตั้งกำหนดตัวบุคคลให้มารับผิดชอบติดตามงานใน 14 สัญญา ของถนนพระราม2 ขณะเดียวกันได้ให้ ทล. เร่งจ่ายเงินค่าชดเชยการก่อสร้าง หรือ ค่าเคให้กับผู้รับเหมาที่มีการก่อสร้างในถนนพระราม 2ซึ่งได้มีการอนุมัติวงมากว่า 1,592 ล้านบาท รวมถึงให้ทาง ทล. ช่วยเจรจากับธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับผู้รับเหมา

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่มีอุบัติจากการก่อสร้าง และขณะที่ให้บริการของรถไฟฟ้าหลายครั้งดังนั้น เพื่อเป็นการกำกับนโยบายและบังคับการลงโทษให้มีประสิทธิภาพ ตนจึงได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…. กลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อจะได้ส่งไปยัง ครม. และ รัฐสภา ต่อไป โดยมั่นใจว่า หากเสนอตามขั้นตอนแล้ว จะมีผลบังคับใช้ได้ในต้นปี 68 ซึ่งผลจากที่มี พ.ร.บ.รางฯ จะช่วยทำให้ กระทรวงคมนาคม สามารถเข้าไปกำกับดูแลรถไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงสามารถมีบทปรับ ลงโทษ ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าได้ทันทีหากมีการกระทำผิด