จุลพันธ์เยี่ยมสรรพากร สั่งเพิ่มประสิทธิภาพ จัดเก็บภาษี

สรรพากร
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้เดินสายตรวจเยี่ยม และมอบนโยบาย ให้แก่ผู้บริหารกรมสรรพากร

 “จุลพันธ์” ลุยตรวจเยี่ยมสรรพากร สั่งขยายฐานภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการ จัดเก็บภาษี พร้อมอำนวยความสะดวก แก่ผู้เสียภาษีในด้านต่าง ๆ หนุนการสร้างกลไกจิตสำนึก ในการชำระภาษี ของผู้มีรายได้ ให้เข้ามาสู่ระบบถูกต้องตามฐานการ จัดเก็บภาษี ชี้ต้องหาวิธียื่นแบบชำระภาษีให้ง่ายขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์

  • เผยสรรพากร นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารด้านภาษี พัฒนาระบบ One Portal One Profile เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
  • ด้านอธิบดีกรมสรรพากร เผยได้ส่งหนังสือไปยังผู้มีรายได้จำนวน 500,000 ราย เพื่อให้คนเหล่านี้ มายื่นแบบแสดงรายได้ต่อกรมฯ อย่างถูกต้อง
  • เผยในจำนวนนี้ มีราวๆ 50% เข้ามายื่นแบบแสดงรายได้ต่อกรมฯ เป็นที่เรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 พ.ค.67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้เดินสายตรวจเยี่ยม และมอบนโยบาย ให้แก่ผู้บริหารกรมสรรพากร ต่อเนื่องจากวานนี้ ที่นายจุลพันธ์ สุดไฟแรง ลุยตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้กรมศุลกากร ในช่วงเช้า ต่อด้วยในช่วงบ่าย วันเดียวกัน ก็ได้เข้าตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายที่กรมสรรพสามิต

ทั้งนี้ ภายหลังการตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายที่กรมสรรพากร นายจุลพันธ์ กล่าวว่า  วันนี้ตนได้มอบนโยบาย เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี รวมถึงได้เน้นในเรื่องการอำนวยความสะดวก แก่ผู้เสียภาษีในด้านต่าง ๆ

ทั้งนี้ เหตุที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เนื่องด้วยหลายปีที่ผ่านมา รายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่ำลง ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การขยายฐานภาษีทำได้มากขึ้น รวมถึงการสร้างกลไก หรือจิตสำนึก ในการชำระภาษีของผู้มีรายได้ ให้เข้ามาสู่ระบบภาษีทุกถูกต้อง

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยกตัวอย่างในต่างประเทศ เขายินดีที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในเขตที่มีการเสียภาษีในอัตราสูง เพื่อแลกกับสวัสดิการที่ดี ซึ่งในประเทศไทยเอง ก็ควรมีการสร้างกลไกที่ชัดเจน ในการสนับสนุน ซึ่งจะเชื่อมโยงว่า เมื่อภาษีมาถึงรัฐแล้ว คนที่เสียภาษีเขาจะได้ประโยชน์อะไร ถือเป็นอีกกลไกในการสร้างจิตสำนึก

สรรพากร
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้เดินสายตรวจเยี่ยม และมอบนโยบาย ให้แก่ผู้บริหารกรมสรรพากร

ทั้งนี้ จากนี้ไปกรมสรรพากร ต้องสร้างกลไกการยื่นแบบชำระภาษีให้ง่ายขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดประโยชน์  โดยการลดหย่อนภาษี  ได้มอบนโยบายว่า การลดหย่อนภาษี ควรที่จะมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ควรกำหนดตัวชี้วัดทุกครั้งเมื่อดำเนินนโยบายดังกล่าว ว่าถึงเป้าหมายหรือไม่ มีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้อย่างไรบ้าง

ขณะนี้ รายจ่ายภาครัฐที่สูงขึ้น อาทิ งบรายจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรคที่เพิ่มขึ้นทุกปี กลไกทางภาษี จะมีแนวทางอย่างไรที่จะเข้ามาช่วยลดภาระตรงจุดนี้ได้ รวมถึงกลไกทางภาษีที่จะเข้ามาช่วย ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณสุข และสังคมสูงวัย อีกทั้งในเรื่องการคืนภาษี ก็จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นจุดสำคัญของกรมฯ ด้วย

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ทางสรรพากร มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารด้านภาษี โดยกำลังพัฒนาระบบ One Portal One Profile เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งเป็นระบบที่กรมสรรพากร จะเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการทำระบบ 50 ทวิ ทางออนไลน์ (หนังสือรับรองเงินได้ของบุคคลที่บริษัทต่างๆออกให้)

โดยระบบนี้ จะทำให้ผู้เสียภาษี สามารถกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว ก็จะสามารถทราบรายละเอียดเงินได้ และรายจ่ายทางภาษีต่างๆ ของตนเองทั้งหมด และสามารถยื่นชำระภาษีเพิ่มเติม หรือขอคืน ได้แสนง่ายเพียงผ่านการกดปุ่มเดียว

ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในปีงบประมาณ 2567 นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยอดการจัดเก็บรายได้รวมของรัฐบาล อาจจะสูงหรือต่ำกว่าเป้าหมายเพียงเล็กน้อย โดยทั้ง 3 กรมจัดเก็บภาษี จะมีอยู่หนึ่งกรมฯ ที่จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย นั่นก็คือ กรมสรรพสามิต เป็นผลมาจากมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากประชาชนยังเดือดร้อน เราก็พร้อมพิจารณา เพื่อให้การช่วยเหลืออยู่แล้ว

สรรพากร
ผู้บริหารกรมสรรพากร ร่วมประชุมรับมอบนโยบาย จากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง

ด้าน .น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สำหรับหนึ่งในแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรนั้น ทางกรมฯ ได้ใช้ AI เข้ามาช่วย โดยดูผู้มีรายได้รายใด ที่มีพฤติกรรมการเลี่ยงภาษี ซึ่งกรมฯ จะเข้าไปตรวจสอบ ในแบบที่เข้มข้นมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่าน กรมฯ ได้ส่งหนังสือไปยังผู้มีรายได้จำนวน 500,000 ราย เพื่อให้ผู้มีรายได้เหล่านั้น  ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายได้ต่อกรมฯ อย่างถูกต้อง โดยในจำนวนนี้ราวๆ 50% ได้เข้ามายื่นแบบแสดงรายได้ต่อกรมฯ เป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ นับจากปี 2563 ที่กรมฯ ได้ทยอยส่งหนังสือไปยังกลุ่มผู้มีรายได้ดังกล่าว ทำให้ยอดการชำระภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นราว 4,500 ล้านบาท

“การยื่นแบบแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากร ผู้มีเงินได้จะต้องกระทำโดยสมัครใจ บางรายอาจไม่เข้ามายื่นแสดงแบบรายได้ต่อกรมฯ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกรมฯ ที่จะเข้าไปดำเนินการติดตามและตรวจสอบต่อไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ถูกต้อง” น.ส.กุลยา กล่าว

กรมสรรพากร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมสรรพากร ลุยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าไม่เกิน 1,500 บาท