กรมสรรพสามิต ลั่นปี 68 พร้อมบูรณาการด้านนโยบาย กฎหมาย พัฒนาบุคลากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน รักษาสมดุลระหว่างรายได้-การเติบโตทางเศรษฐกิจ จ่อเก็บภาษีความเค็ม ชี้เป็นภาษีที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ประเดิมกลุ่มแรก สินค้าขนมขบเคี้ยว มีความเค็มมากจ่ายภาษีสูง
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปี 68 กรมสรรพสามิตยังคงมุ่งเน้นในการดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดการดำเนินงานเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และปรับปรุงการทำงานให้เป็นองค์กรที่ทันสมัยโปร่งใส ตรวจสอบได้
ทั้งนี้ สำหรับในด้าน E หรือ Environment และ S หรือ Social กรมฯจะเน้นนโยบายการขยายฐานภาษี เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอน การปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่
การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ เพื่อรองรับมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมสุราชุมชน และการจัดเก็บภาษีโซเดียม เป็นต้น
ในด้าน G หรือ Governance ก็จะมุ่งเน้นการปรับกระบวนการทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ทั้งด้านการบริหาร การจัดเก็บภาษี การปราบปราม และการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือ และสื่อสารกับภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับร่วมกัน
น.ส.กุลยา กล่าวด้วยส่า ภาษีสรรพสามิต ถือเป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืน โดยการรักษาสมดุลระหว่างรายได้และผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น ภาษีรถยนต์ จะมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต(Future Mobility) ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี EV PHEV HEV และ Hydrogen ตามนโยบายที่รัฐบาล
ในด้านภาษีแบตเตอรี่ จะมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่จำเป็นต้องมีการใช้แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเกณฑ์ตามค่า Energy Density หรือประจุไฟฟ้าต่อน้ำหนัก และ Lifecycle หรือรอบการอัดประจุไฟฟ้า
ส่วนภาษีคาร์บอน จะเป็นการเพิ่มกลไกราคาคาร์บอนภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับราคาคาร์บอน เพื่อสร้างความตระหนักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยเน้นย้ำว่าการเพิ่มกลไกดังกล่าวจะไม่กระทบต่อภาระภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน
การแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ โดยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมสุราชุมชน เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีมาตรฐาน และแข่งขันได้
รวมถึงภาษีโซเดียม ที่ทางกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาประเภทสินค้าสำเร็จรูป และการกำหนดเกณฑ์ปริมาณโซเดียมที่จะจัดเก็บ ซึ่งจะเป็นภาษีที่ต้องการมุ่งเน้นด้านสุขภาพประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ เบื้องต้นจะเริ่มจะเริ่มเก็บภาษีจากสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวก่อน เนื่องจากไม่ใช่สินค้าจำเป็นสำหรับการบริโภคส่วนอัตราภาษีที่เก็บ จะกำหนดเป็นรูปแบบขั้นบันได คล้ายกับภาษีความหวาน โดยจะให้มีระยะเวลาปรับตัว แก่ผู้ประกอบการ
“การคิดภาษีความเค็ม จะวัดจากปริมาณโซเดียมในสินค้า หากสินค้าใดมีโซเดียมผสมอยูามาก ก็จะเสียภาษีสูง แต่หากมีปริมาณที่น้อยก็จะเสียภาษีต่ำ คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในปี 68 โดยจะเริ่มจากสินค้าไม่มีความจำเป็นก่อน ส่วนในสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส น้ำปลาร้า จะยังไม่มีการเก็บภาษี” น.ส.กุลยา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลัง สั่งสรรพสามิตเร่งศึกษาการจัดเก็บภาษีบุหรี่อัตราเดียว ให้เสร็จโดยไว