ปลัดคลัง เผยปม EA ถึงเวลาที่อะไรซุกซ่อนใต้พรม ต้องเอาออกมา



“ลวรณ” ปลัดคลัง เผยประเด็น EA ชี้การที่ ก.ล.ต. เร่งกล่าวโทษ มีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนไทย ปลัดคลัง ลั่นถึงเวลาแล้ว อะไรที่ซุกซ่อน อยู่ใต้พรม ก็ต้องเอาออกมาให้หมด

  • ลั่นไม่ว่าเคยซุกไว้ในสมัยไหนไม่รู้ ถ้าเจอต้องจัดการหมด
  • เชื่อการดำเนินการเช่นนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้
  • ย้ำ ก.ล.ต. ต้องมีหลักฐานชัดเจน ถึงกล้าร้องทุกข์กล่าวโทษใคร ได้รุนแรงขนาดนี้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลัง กรณีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษผู้บริหารและกรรมการ ได้แก่ นายสมโภชน์ อาหุนัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA โดยทั้ง 2 คน ได้ออกประกาศลาออกจากตำแหน่งของ EA แล้ว

รวมถึงได้กล่าวโทษถึง นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำการทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่น ทำให้บริษัท และบริษัทย่อย ผู้ถือหุ้นเกิดความเสียหาย พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

นายลวรณ กล่าวว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่อะไร ที่อยู่ใต้พรม ต้องเอาออกมาให้หมด และต้องแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ จากการที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษดังกล่าว กับทาง EA ก็จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย เพราะอะไรที่ซุกซ่อน อยู่ใต้พรม ก็ต้องเอาออกมาให้หมด ไม่ว่าจะเคยซุกไว้ในสมัยไหนไม่รู้ แต่ถ้าเจอต้องจัดการหมด เชื่อว่าการดำเนินการเช่นนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหลักทรัพย์ของไทยได้

ทั้งนี้ มีหลายฝ่ายประเมินว่า การดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องที่เกิดกับ EA จะมีความล่าช้าหรือไม่ นายลวรณ กล่าวว่าความเร็วช้า ขึ้นอยู่ที่หลักฐาน แต่ขั้นตอนที่ดำเนินการขณะนี้ ก็เร็วกว่าที่คิด และ ก.ล.ต.เป็นคนเจอเรื่องนี้เอง อีกทั้งทางก.ล.ต. ก็เป็นคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษเอง ซึ่ง การจะไปกล่าวหาใครรุนแรงขนาดนี้ ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนแน่นอน

นายลวรณ ในฐานะกรรมการใน ก.ล.ต. กล่าวด้วยว่า มาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ได้ดำเนินการไปหลายมาตรการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มเรื่องการทำ Short sale และการกำกับดูแลเรื่องการใช้ Program Trading เป็นต้น

“จากนี้ ก็จะมีมาตรการอื่นๆ ทยอยออกตามมาอีก แต่ตอนนี้ยังพูดก่อนไม่ได้ เพราะบางเรื่องมัน เป็นเรื่องที่อ่อนไหว คือด้านการบังคับใช้ (enforcement) ต้องดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ เติมเต็มในการบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็ว และเป็นธรรมสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ โดยโจทย์คือ การบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีความชัดเจน รวดเร็ว เด็ดขาด” นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ กล่าวด้วยว่า แต่ละคดีที่เกิดขึ้น ที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ ต่างมีช่องโหว่คนละแบบกัน มีความต่างกัน กรณีของ Stark ก็ช่องหนึ่ง More ก็ช่องหนึ่ง EA ก็อีกช่องหนึ่ง แต่มันเกิดกับหุ้นขนาดใหญ่ หรือ IPO Underwrite แปลกๆ ที่มีราคาเวอร์ๆ แน่นอนจะกระทบต่อเชื่อมั่นทั้งนั้น ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่น ต้องมีหลายวิธีในการจัดการ

จากนี้ไป บริษัทที่ทำเรื่องตรวจสอบบัญชี ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบดู ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีในระดับ Big four ตรวจสอบบัญชี (ของบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหา) แล้วไม่เห็นอะไรเลยหรือนั้น

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลัง ที่จะสามารถสนับสนุนตลาดทุนไทยได้ คือการเติมสินค้าเข้าไปในตลาดทุน หลังจากที่สร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนแล้ว

“เปรียบเสมือนเมื่อมีตุ่มน้ำที่รั่ว เราก็ต้องอุดรูรั่วนั้นเสียก่อน ที่จะเติมน้ำเข้าไปในตุ่ม ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังเตรียมเรื่องกองทุน Thai ESG ที่ปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี 30% ไม่เกิน 3 แสนบาท/ปี จากเดิมไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี

และเงื่อนไขลดระยะเวลาการถือครอง (ที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี) เหลือ 5 ปี จากเดิม 8 ปี โดยหลังจากที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้ว อยากให้เริ่มซื้อขายได้ ตั้งแต่ ก.ย.นี้เลย ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดราว 50,000 – 60,000 ล้านบาท” นายลวรณ กล่าว

กระทรวงการคลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : SET removes Energy Absolute (EA) from SET ESG Ratings