

“มนพร” พร้อมรับฟังเสียงประชาชนหลัง “นอร์ทกรุงเทพโพล” เผยส่วนใหญ่เห็นด้วยกรณีย้าย ท่าเรือคลองเตย มอบการท่าเรือฯ เร่งศึกษาข้อสรุปการย้าย ท่าเรือคลองเตย อย่างละเอียดโดยด่วน
- เน้นย้ำประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติเป็นหลัก
- หวังช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาฝุ่น PM2.5
- พร้อมยกระดับการให้บริการ คุณภาพชีวิตประชาชน ก้าวสู่ฮับโลจิสติกส์แบบครบวงจร
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ(นอร์ทกรุงเทพโพล) ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณีการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่เดิม
พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 70.7% เห็นด้วยกับการย้ายท่าเรือกรุงเทพ โดย 40.2% มองว่า จะทำให้เกิดประโยชน์ จากที่ดินในพื้นที่เดิม โดยการใช้พื้นที่ผสมผสานในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด
พร้อมทั้งช่วยแก้ปัญหา ฝุ่นละออง PM 2.5 จากรถขนส่งที่วิ่งเข้า – ออกในบริเวณดังกล่าว รวมถึงลดปัญหาความแออัด ของชุมชนในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการทบทวน และศึกษาการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ให้มีความเหมาะสม และเป็นไปตามความคิดเห็นของประชาชน
ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ จะต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบด้าน และครบทุกมิติอย่างเร่งด่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อยกระดับการให้บริการ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางมนพร กล่าวต่อว่า จากการรายงานของ กทท. ระบุว่า กทท. ได้จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Redevelopment Project) บนเนื้อที่ประมาณ 2,353.2 ไร่ แบ่งเป็น 7 ส่วนในการพัฒนาได้แก่ 1. พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ ทกท. 943.2 ไร่ 2. พื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ กทท. 149.2 ไร่
3. พื้นที่หน่วยงานของรัฐขอใช้ 150.2 ไร่ 4. พื้นที่หน่วยงานของรัฐเช่าใช้ประโยชน์ 152.2 ไร่ 5. พื้นที่เอกชนเช่า521.16 ไร่ 6. พื้นที่ชุมชนแออัดคลองเตย 232.1 ไร่ และ 7. พื้นที่ทางสัญจร (ถนน, ทางรถไฟ, คลอง) 203.1 ไร่
ทั้งนี้ แผนพัฒนาดังกล่าว ได้กำหนดรายละเอียดโครงการฯ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มพัฒนาพื้นที่ A ได้แก่อาคารสำนักงานท่าเรือใหม่และอาคารสำนักงานเช่าเอกชน Retail Mixed Use โครงการที่พักอาศัย Medical Hub อาคารสำนักงาน Smart Community อาคารอยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการพนักงาน กทท. อาคารอยู่อาศัยประเภทเช่า
2. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ B ได้แก่ Smart Port (ท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ) ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง (20G) 3. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ C ได้แก่ พื้นที่ Cruise Terminal และ Retail Mixed use อาคารสำนักงานพื้นที่พาณิชย์ Duty Free โรงแรม ศูนย์อาคารแสดงสินค้า อาคารสาธารณูปโภค อาคารจอดรถ ศูนย์ฝึกอบรม
4. กลุ่มพื้นที่รองรับในการพัฒนาในอนาคต X ได้แก่ พื้นที่คลังเก็บสินค้า และสำนักงาน E- Commerce พื้นที่จอดรถบรรทุก พื้นที่ ปตท. เช่าใช้ และ 5. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ G ได้แก่ Sport Complex การปรับปรุงสถาปัตยกรรมของพื้นที่ทั้งหมด สวนสาธารณะ
ทั้งนี้ สำหรับวัตถุประสงค์การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น เพื่อยกระดับให้เป็นท่าเรือทันสมัย มีศักยภาพรองรับธุรกิจพาณิชยนาวี ส่งเสริมการขนส่งโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของชุมชนคลองเตย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้แนวคิดโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (SMART PORT) เพื่อยกระดับสู่ศูนย์กลาง ด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะรับฟังทุกเสียงของประชาชน และพร้อมที่นำมาพิจาณา เพื่อปรับปรุงรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้ทุกโครงการ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน และประเทศชาติ
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดผลสำรวจ “นอร์ทกรุงเทพโพล” ชี้ประชาชนเทเสียงย้าย ท่าเรือคลองเตย