รฟม. มั่นใจ รถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม สร้างเสร็จตามกำหนด เปิดให้บริการกลางปี 73 พร้อมเดินหน้าโครงการ รถไฟฟ้า สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) พรัอมเสนอผลการศึกษาโครงข่ายรถไฟฟ้า ในจังหวัดภูมิภาคอีก 4 จังหวัด “เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา พิษณุโลก” เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนา โครงข่ายระบบขนส่งมวลชน
นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ว่า ตามแผนดำเนินงาน รฟม. จะเร่งลงพื้นที่และทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานในการก่อสร้างครบภายใน 2 ปี
โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 68 คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 73 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่งานโยธาเสร็จสิ้นแล้วนั้น รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทาน เร่งจัดหาขบวนรถไฟฟ้า และติดตั้งระบบรถไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ก่อนในปี 71
ทั้งนี้ ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมนั้น งานก่อสร้างโยธา ถือเป็นความท้าทายมากเพราะนอกจากเป็นใต้ดินตลอดทั้งแนวแล้ว การก่อสร้างยังเข้าไปในพื้นที่ย่านอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์
ขณะเดียวกันยังลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่ง โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งรถไฟฟ้าสีส้มจะไปเชื่อมโรงพยาบาลและมีสถานีใต้ดิน สถานีโรงพยาบาลศริราช อาคารใหม่
ขณะที่ สถานีด้านบนพื้นดินโรงพยาบาลศริราช ก็จะเชื่อมกับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศาลายา อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก จะแล้วเสร็จตามกำหนด เนื่องจากจะมีการก่อสร้างงานโยธาควบคู่กับ ระบบรถไฟฟ้า
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนการบำรุงรักษาโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่เปิดให้บริการนั้น ในเรื่องนี้ปัจจุบัน รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบดูแลอยู่
โดยล่าสุดทางคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ไปเจรจาให้ผู้รับสัมปทาน BEM รับมอบพื้นที่ไปดูแล เพื่อลดภาระ รฟม. ที่ต้องจัดสรรงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท ในการดูแลบำรุงรักษา ซึ่งตามกำหนดจะส่งมอบให้ผู้รับสัมปทานดูแลบำรุงรักษา เมื่อผู้รับสัมปทานเข้ามาทดสอบระบบ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังเดือน เม.ย.69 รฟม.จะโอนให้ BEM เป็นคนดูแลบำรุงรักษา
นอกจากนี้ รฟม. ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประกอบการเสนอขออนุมัติโครงการฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม รฟม. ยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองของจังหวัดภูมิภาคอีก 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และพิษณุโลก
โดยปัจจุบัน รฟม. ได้เสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินโครงการ และรูปแบบการลงทุนต่างๆ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รฟม.รวมการบ้าน3 โปรเจคยักษ์“ส้ม-น้ำตาล-รถไฟฟ้าภูเก็ต”ส่ง”สุริยะ”