เลขาฯกฤษฎีกา เผยชัดตีคำตอบเงินดิจิทัล 1 หมื่น ไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” 

เลขาฯ กฤษฎีกา เผยตีความส่งคำตอบรัฐบาล เงินดิจิทัล 1 หมื่น ไร้คำว่าไฟเขียว ชี้ไม่มีอะไรเลยตอบเพียงเป็นการอธิบายถึงมาตรา 53 และต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • เผยจะออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก. ก็แล้วแต่ เพราะออกเป็นกฎหมายเหมือนกัน
  • ลั่นต้องยึดเงื่อนไขในกฎหมายวินัยการเงินการคลัง การันตีถ้าทำตามปลอดภัยแน่นอน
  • เอ่ย รมช.คลัง คงไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียว เพราะตนก็ไม่ใช่ตำรวจจราจร

วันนี้ (9 ม.ค.67) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบเรื่องการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต1 หมื่นบาท มาให้รัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ส่วนรายละเอียดคงต้องไปเข้าในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก่อน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ อาจจะต้องนำไปให้กระทรวงการคลังเป็นคนชี้แจงในรายละเอียด แต่ยืนยันว่าไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” 

ทั้งนี้ กลุ่มสื่อมวลชนได้ถามว่า คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบในแง่ของข้อกฎหมายใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ตอบเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียว เพราะกฤษฎีกาเป็นนักกฎหมาย แต่เงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มีอะไรบ้าง ซึ่งในเงื่อนไขนั้นจะบอกว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูกันว่ามันเข้าเงื่อนไขนั้นหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะนักกฎหมายคงตอบได้เพียงเท่านั้น 

ทั้งนี้ หากจะถามว่า ออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น มาตรา 53 ก็บอกแล้วว่าให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็นพ.ร.บ.หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็แล้วแต่ เพราะออกเป็นกฎหมายเหมือนกัน มีเพียงเท่านี้ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านี้

อีกทั้งเมื่อถามว่า ข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้าง นายปกรณ์ กล่าวตอบว่า ไม่มีอะไรเลย เพียงแต่เป็นการอธิบายถึงมาตรา 53 และบอกว่าคงจะต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้ เมื่อถามย้ำว่า คำตอบที่ส่งกลับไปไม่ได้ชี้ว่า รัฐบาลควรจะทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไรใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตนเป็นนักกฎหมาย ตนชี้ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของกฤษฎีกาสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่า รัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ผิดข้อกฎหมาย นายปกรณ์ กล่าวว่า อันนี้ไม่รู้ เมื่อถามต่อว่า สามารถใช้อ้างอิงได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะเรายืนตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตอบอย่างนั้นเป๊ะ 

นอกจากนี้ ยังมีการถามย้ำว่า การันตีได้หรือไม่ว่า ถ้ารัฐบาลทำตามคำแนะนำของกฤษฎีกาแล้วจะปลอดภัย นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าทำตามผม ปลอดภัยแน่นอน เมื่อถามว่า หากมีปัญหา รัฐบาลสามารถอ้างอิงความเห็นของกฤษฎีกาเป็นเกราะป้องกันตัวเองได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อถามถึงกรณีการที่รัฐบาลระบุว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงภาวะวิกฤต แต่จะมีการตราเป็น พ.ร.บ. มันจะย้อนแย้งหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่เป็นอะไรเลย ความจริงแล้ว พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพียงแต่บอกว่าให้กู้ได้โดยตราเป็นกฎหมาย ทีนี้กฎหมายก็จะมีทั้ง พ.ร.บ.และ พ.ร.ก.เดิมที่ผ่านมาเป็น พ.ร.ก. ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่เป็น พ.ร.บ.ถามว่าทำได้หรือไม่ ก็ทำได้ 3 วาระรวดก็เคยมีมาแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไร

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงกรณีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาระบุว่ากฤษฎีกาไฟเขียว ใช้คำนี้ไม่ได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ผมเข้าใจว่า รัฐมนตรีช่วยไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียวนะ เพราะผมเองก็ไม่ใช่ตำรวจจราจร แต่ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็ทำได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่า

เมื่อถามว่า กฤษฎีกาส่งคำตอบมาแล้ว มีอะไรที่น่าห่วงอีกหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ห่วงอะไรเลย เพราะจริงๆแล้ว หากรัฐบาลทำอะไรทก็แล้วแต่ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่ถูกต้องฉะนั้นตนเชื่อมั่นว่าทุกคนคงจะยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเหล่านี้