อุตสาหกรรมน้ำตาลปี 2567 ยังขยายตัวได้ แม้เผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง



อุตสาหกรรมน้ำตาลปี 2567 ยังขยายตัวได้ แม้จะเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง SCB EIC วิเคราะห์ ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

  • ปริมาณผลผลิตน้ำตาลไทยใมีแนวโน้มลดลง
  • ผลจากภาวะภัยแล้ง
  • ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์  (SCB EIC) ได้วิเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2567 ว่า ยังมีแนวโน้มขยายตัว แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและนโยบายควบคุมการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย โดยประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2567 มีดังนี้  การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าน้ำตาลในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเติบโต อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังคงมีความเปราะบางสูง จากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก

ส่วนนโยบายควบคุมการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย จะส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้า เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลที่สำคัญของโลก ทั้งนี้การดำเนินนโยบายควบคุมการส่งออกของอินเดียยังมีความไม่แน่นอนสูง จากกรอบเวลาและความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายที่ไม่ชัดเจน และ  ปัญหาภัยแล้ง ปริมาณฝนที่น้อยกว่าค่าปกติในหลายพื้นที่ของไทยในปีนี้จากปรากฎการณ์เอลนีโญ จะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยในฤดูกาลผลิต 2566/2567 เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากและพื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่ของไทยพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก

ทั้งนี้SCB EIC คาดว่ารายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยปริมาณผลผลิตที่ลดลงค่อนข้างมาก โดยปริมาณผลผลิตน้ำตาลไทยในปีการผลิต 2566/2567 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 20.9% มาอยู่ที่ 8.7 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบของไทยที่คาดว่าจะลดลง 15.7%YOY มาอยู่ที่ 79.1 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่ที่จะปรับตัวลดลงจากภาวะภัยแล้ง ทั้งนี้พื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ จะมีปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงค่อนข้างมาก จากภาวะฝนแล้งที่รุนแรงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ  ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2567 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.6%YOY มาอยู่ที่ 620.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สอดคล้องกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปีนี้ และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า  

เนื่องจากคาดว่าตลาดน้ำตาลโลกจะเผชิญภาวะขาดดุล กอปรกับอินเดียมีแนวโน้มที่จะลดโควตาการส่งออกน้ำตาลลงอีกในฤดูกาลผลิตหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกในปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26.1 เซนต์ต่อปอนด์ สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2567 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศจะอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 12.0%YOY จาก 1) ปริมาณการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ 2) ราคาน้ำตาลในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ สำหรับในระยะกลางอุตสาหกรรมน้ำตาลยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลของไทยและความต้องการบริโภคน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาลจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายและยกระดับศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนสูงของภาวะเศรษฐกิจ กฎระเบียบและข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง เช่น นโยบายด้านการผลิตและการค้าน้ำตาลของอินเดียและบราซิล นโยบายพึ่งพาตนเองด้านอาหารของประเทศคู่ค้าสำคัญ เป็นต้น มีการกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกที่หลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปและมีการจัดทำแผนฉุกเฉินต่อความเป็นไปได้ของฉากทัศน์ (Scenario) ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงการลงทุนเพื่อให้สามารถคว้าโอกาสและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระแสความยั่งยืน เช่น การช่วยสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยสามารถลงทุนในแหล่งน้ำ หรือการสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เป็นต้น รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านระบบการผลิตไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำร่วมด้วย