

The Journalist Club สัมภาษณ์พิเศษ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ หลากหลายมิติเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต
รวมถึงเรื่องการค้าการลงทุน การปรับโครงสร้างการผลิต ความเสี่ยง จุดเปราะบาง การลดความเหลื่อมล้ำ มาตรการทางภาษี ความแข็งแรงของฐานะทางการคลัง งบประมาณของประเทศ มีหลายมิติที่น่าสนใจ
เลขาธิการสภาพัฒน์ เริ่มต้นฉายภาพเศรษฐกิจไทยว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปีที่ผ่านมามีผลกระทบจากภาวะสงครามที่มีการรบกัน ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมาก ทำให้เศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัว 1.9% ขณะที่ปี 2565 ขยายตัว 2.5% ส่วนปี2567นี้ สภาพัฒน์ประมาณการว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.2-3.2%

สำหรับการส่งออกปีที่ผ่านมาเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้นช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.2566 ส่งผลให้การส่งออกไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ขยายตัวได้ 4.6% ส่งสัญญาณว่าการค้าโลกปรับตัวดีขึ้น โดย 3 ไตรมาสก่อนหน้านั้นติดลบมาโดยตลอด ส่งผลให้ทั้งปี 2566 การส่งออกขยายตัว -1.7%
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่การใช้กำลังการผลิตไม่ได้ขยับตัวขึ้นตาม สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 59.06% ต่ำกว่าปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 62.76% ล่าสุดเดือนม.ค.ที่ผ่านมาการใช้กำลังการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบหลายเดือน โดยมาอยู่ที่ 60%
“ผมมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องในปีนี้ ค่ากลางอยู่ที่ 2.7% แม้จะมีความเสี่ยงเยอะทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ ถ้าไม่มีอะไรมาช็อกแรงๆจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาจำนวนมาก”เลขาสภาพัฒน์กล่าว

นอกจากนี้สินค้าไทยสำหรับการส่งออก ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป ตัวสำคัญคือชิปคอนโทรล นายกรัฐมนตรีจึงพยายามให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) พยายามดึงโรงงานผลิตชิปเข้ามาลงทุน เพราะเป็นต้นน้ำที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆหลายกลุ่ม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องใช้ชิปเหมือนกัน
การดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมีการแข่งขันกันสูง ทุกประเทศต่างแย่งกันและให้สิทธิประโยชน์กันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เฉพาะแค่มาตรการทางภาษี ของไทยจึงต้องใช้เงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเข้ามาสนับสนุนนักลงทุนด้วย ในต่างประเทศเช่นเยอรมัน และญี่ปุ่น ก็ทำแบบเดียวกันและออกกฎหมายมารองรับ

สำหรับเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเริ่มต้นไว้ที่ 10,000 ล้านบาท และในปี 2567 นี้จะเพิ่มเข้าไปอีก 16,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการดึงนักลงทุนกลุ่มผลิตชิปเข้ามา
“ในช่วง 3-4 ปีนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ช็อกเกิดขึ้น ใช้เวลาช่วงนี้ดึงนักลงทุนเข้ามา เช่น การตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จะใช้เวลาประมาณ 1ปีครึ่งในการตั้งโรงงานและเริ่มผลิตได้ เศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่านี้ อยู่ที่ประมาณ 3%กว่า แต่ถ้าต้องการให้เศรษฐกิจโตได้ในระดับ 5-6% จะต้องปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อการส่งออก ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานมากขึ้น”

การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ระบบการศึกษาจะต้องเปิดสายช่าง และอาชีวะมากขึ้น เพราะภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการมากขึ้น ส่วนผู้ที่จบสายบริหาร ไม่ผิดอะไร เพียงแต่ต้องทำกิจการของคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญคือ ทัศนคติในการทำงาน
“ความสำเร็จไม่ได้มาจากการทำงานแบบสบายๆ แต่มาจากการลงทุนลงแรงอยู่กับมันเต็มที่ ต้องมุ่งมั่นที่จะทำ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆเหมือนดูในคลิป ชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่ผ่านมาจะเห็นว่าสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมีประมาณ 1% เท่านั้น ที่เป็นยูนิคอร์น ทำธุรกิจแล้วอยู่ได้”

อย่างไรก็ตามตัวเลขการเติบโตของจีดีพีที่สูง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่กันอย่างสบาย เพราะต้องดูเรื่องการกระจายรายได้ที่ดีด้วย ต้องเป็นระบบเศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างโอกาส ให้คนมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาแม้ความเหลื่อมล้ำจะลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ห่างกันอยู่ โดย 10ปีที่แล้ว คนระดับบน 10% กับคนระดับล่าง 40% ของประชากรทั้งหมดมีรายได้ต่างกันประมาณ 6-7 เท่า ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5-6 เท่า ถ้าเทียบรายได้กลุ่มระดับบนและระดับล่างที่ 10% เท่ากัน จะมีความแตกต่างทางรายได้ที่ประมาณ 10 เท่า และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (ปี2566-2570) เมื่อสิ้นสุดแผนกำหนดเป้าหมายความเหลื่อมล้ำไว้ที่ไม่เกิน 5 เท่า
“ภาคเกษตร เศรษฐกิจชุมชน ต้องทำให้เขามีรายได้ในระดับที่อยู่ได้ ระบบรัฐสวัสดิการในปัจจุบันยังกระจัดกระจาย คนหลายกลุ่มยังไม่อยู่ในระบบ ต้องทำให้เข้ามาอยู่ในระบบ มีความมั่นคงได้ในระดับหนึ่ง ภาคเกษตรมีจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการ จึงมีความเปราะบาง”

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับหลายความเสี่ยง ทั้งเรื่องโครงสร้างของประชากร ที่คนเกิดน้อย คนสูงอายุมากขึ้น การจัดเก็บภาษีได้น้อยลง จากเดิมสัดส่วนรายได้จากภาษีกับงบประมาณของประเทศทั้งหมดจะอยู่ที่ 19-20% ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 13-14 % โดยมีคนที่อยู่ในฐานภาษีจำนวน 11 ล้านคน แต่ที่จ่ายภาษีจริงๆมีประมาณ 4 ล้านคน ส่วนที่เหลือหักลดหย่อนแล้ว รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี แรงกดดันทางการคลังจะมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าไม่ปรับโครงสร้างภาษี ทำงบประมาณแบบขาดดุลไปเรื่อยๆ ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น รายได้จะไม่พอจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ย ก็จะเป็นปัญหามากขึ้น ถ้าเกิดวิกฤติขึ้นในช่วงที่ฐานะการคลังไม่แข็งแรงพอ จะเกิดปัญหาทันที

อย่างไรก็ตามด้วยสถานะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ประชาชนระดับล่างยังมีปัญหา จึงยังคงใช้มาตรการทางการคลังดูแลอยู่ โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อย่างไรก็ตามต้องใช้เท่าที่จำเป็น
ปัจจุบันมีคนที่ลำบากอยู่ในระบบ และรู้ตัวว่าเป็นใครแล้วจำนวน 15 ล้านคน ถ้าจะช่วยเหลือก็ควรพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนี้ โดยอิงกับระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ถ้าจะช่วยคนกลุ่มอื่นก็ต้องดูเกณฑ์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการออกแบบมาตรการ

เลขาธิการสภาพัฒน์มองว่า สิ่งที่จะเข้ามาช่วยทำให้ฐานะทางการคลังของประเทศแข็งแกร่งขึ้น คือประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ต้องดีขึ้น อาจจะต้องพิจารณาว่าจะขยับอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต เพิ่มขึ้นสัก 1% ไหม ในช่วงจังหวะเวลาและสถานะทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม
“ช่วงที่เริ่มเกิดโควิด-19 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยกำหนดเพดานไว้ที่ 60 % แต่ขณะนั้นสัดส่วนจริงอยู่ที่ประมาณ 43% จึงมีช่องว่างรองรับสถานการณ์ไว้ประมาณ 16-17% ยังเอาเกือบๆไม่อยู่ ปัจจุบันขยับเพดานหนี้ต่อจีดีพีไปที่ 70% ยังมีช่องว่างรองรับอยู่ประมาณ 8-9 %” เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว