“เศรษฐา”ขึงขัง ประกาศแก้หนี้ทั้งระบบต้องจบภายในรัฐบาลชุดนี้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบในเวลา 2 เดือน

“เศรษฐา”ขึงขังประกาศแก้หนี้ทั้งระบบต้องจบภายในรัฐบาลชุดนี้  นำทีมแถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบรอบ 2 เดือนผ่านบันได 4 ขั้น

  • ยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 140,000 ราย
  • มูลหนี้รวม 9,800 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 ราย
  • ผบ.ตร.ระดมกวาดล้างนายทุนผู้กระทำความผิด 1,327 ราย
  • ผู้ต้องหาจำนวน 1,419 ราย ตรวจยึดของกลางมูลค่า 46 ล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังกล่าวว่า ผ่านไป 2 เดือน หลังรัฐบาลมอบนโยบายแก้หนี้ทั้งระบบให้หมดไปในรัฐบาลชุดนี้ ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ เจ้าหนี้ลูกหนี้ต้องเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย 100% และลูกหนี้ต้องได้รับสินเชื่อและการช่วยเหลือฟื้นฟูกลับมาได้ โดยผลการแก้หนี้นอกระบบตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2566-31ม.ค.2567 มียอดลงทะเบียนทั้งหมด 140,000 ราย มูลหนี้รวม 9,800 ล้านบาท เข้ากระบวนการไปแล้ว 21,000 ราย อยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย 9,000 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 ราย คิดเป็นความสำเร็จ 57% ที่เข้ากระบวนการ มูลหนี้ลดลง 670 ล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบในเวลา 2 เดือน

อย่างไรก็ตามยังถือว่าหนทางข้างหน้ายังมีความท้าทายอยู่อีกมาก หนึ่งในปัญหาหลักคือเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือเจ้าหนี้ไม่มาเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนบรรลุเป้าหมาย กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกยังคงต้องปฏิบัติงานเชิงรุก เร่งหาตัวเจ้าหนี้ และไกล่เกลี่ยให้เร็วที่สุด และให้กระทรวงมหาดไทยจัดตลาดนัดแก้หนี้ในทุกจังหวัดอย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง

ส่วนบันไดขั้นที่ 2 การช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ได้สั่งการให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งกวาดล้าง โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ รับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่ผิดกฎหมาย สตช.ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดกว่า 1,300 ราย มูลค่าหนี้ 40 ล้านบาท สตช.ยังคงต้องดำเนินการต่อเนื่องและจริงจัง ครอบคลุมทุกพื้นที่ การกวาดล้างจะช่วยปลดปล่อยลูกหนี้ให้หลุดพ้นวงจรอันโหดร้ายได้ต่อไป

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบในเวลา 2 เดือน

บันไดขั้นที่ 3 มอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ให้ความช่วยเหลือจัดหาเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยเรียบร้อยแล้ว พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม ไม่กลับมาเป็นหนี้นอกระบบอีก ออมสินและธ.ก.ส.ได้มีหลายมาตรการช่วยเหลือ แต่มีปัญหาเรื่องเอกสาร รายรับรายจ่ายย้อนหลัง ที่ลูกหนี้ต้องยื่น ได้กำชับให้ดูแลเป็นพิเศษ อยากให้ธนาคารของรัฐนำเงินกลับไปช่วยประชาชนที่ยากลำบากมากกว่าการกอดแค่ผลกำไรอย่างเดียว ในขณะที่หลายครอบครัวทนทุกข์กับหนี้นอกระบบดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กำหนดเอาไว้

บันไดขั้นสุดท้ายคือการสร้างรายได้เพิ่ม ให้เพียงพอค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ กระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน หาอาชีพให้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบในเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ได้แบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่มลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนี้รหัส 21 ปิดบัญชีหนี้เสียแล้ว 630,000 บัญชี มูลค่าหนี้มากกว่า 40,000 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้กลับเข้าสู่สถานะปกติในเครดิตบูโร และสามารถเข้าสู่ระบบการเงินได้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอี 10,000 ราย มูลค่า 5,000ล้านบาท

2.กลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้เกินความสามารถในการชำระหนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีหนังสือถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.7 มีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว ช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์กว่า 3,000 ราย ลูกหนี้บัตรเครดิตเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้มากกว่า 150,000 บัญชี

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การแก้หนี้เกิดความยั่งยืน จะต้องให้ความรู้ทางการเงินทุกช่วงวัย สร้างวินัยทางการเงิน ยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

3.กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระหนี้ไม่ต่อเนื่อง เกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้มากกว่า 1,800,000 ราย มูลหนี้กว่า 250,000 ล้านบาท ลูกหนี้กองทุนเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กว่า 600,000 ราย

4.กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหลักเกณฑ์ร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว และจะขยายหลักเกณฑืไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริหารทรัพย์สิน คาดจะแล้วสิ้นภายในไตรมาสแรกนี้ เมื่อจัดตั้งแล้วเสร็จลูกหนี้จะสามารถโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป ทั้งนี้การแก้หนี้ทั้งระบบต้องจบภายในรัฐบาลชุดนี้ 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดการสั่งการให้ธนาคารของรัฐเข้ามาช่วยปิดหนี้ให้ ทำให้หนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ การเป็นเจ้าหนี้นอกระบบไม่ใช่ความผิด แต่ที่ทำผิดกฎหมาย คือ การปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การข่มขู่ ใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ ตลอดเวลา 2 เดือน ได้ไปดูตลาดนัดแก้หนี้ ปัญหาที่พบคือ ลูกหนี้ติดเครดิตบูโร ทางกระทรวงการคลังจะกำหนดวงเงินสินเชื่อขั้นต่ำให้ และการหารายได้ของลูกหนี้ มากกว่าจะดูเฉพาะเครดิตบูโร

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ร่วมแถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบในเวลา 2 เดือน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กล่าวว่าได้ระดมกวาดล้างนายทุนผู้กระทำความผิด 2 ครั้งจำนวน 1,327 ราย ผู้ต้องหาจำนวน 1,419 ราย ตรวจยึดของกลางมูลค่า 46 ล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้ 64.22 ล้านบาท สตช.จะปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่องต่อไป

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ร่วมแถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบในเวลา 2 เดือน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแก้หนี้นอกระบบ ธนาคารออมสินและธ.ก.ส.ได้มีโครงการหลากหลาย วงเงินตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 500,000 บาท เงื่อนไขแตกต่างกันไป แก้หนี้นอกระบบไปประมาณ 90,000 ราย รวมวงเงินสินเชื่อ 12,000 ล้านบาท อนาคตจะผ่อนปรนหลักเกณฑ์ลง, โครงการฝึกอาชีพควบคู่ไปกับการให้สินเชื่อ เป็นการสร้างรายได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อเป็นลูกหนี้ในระบบแล้วจะผ่อนชำระได้และไม่กลับไปเป็นไปเป็นหนี้นอกระบบ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมแถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบในเวลา 2 เดือน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังมีสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์บางแห่งไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าคลินิกแก้หนี้ จะดำเนินการต่อไปขอร้องให้ธนาคารและสถาบันการเงินเหล่านั้นให้ความร่วมมือ ให้จงได้ ผลการดำเนินงานจะเห็นว่าหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลลดลงอย่างชัดเจน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงผลงานแก้หนี้ทั้งระบบในเวลา 2 เดือน