“จุลพันธ์” เผยดิจิทัล วอลเล็ต หากไม่ทัน พ.ค.นี้ ยังไม่มีกำหนดใช้แน่ชัด

จุลพันธ์ เผยโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ออกใช้ไม่ทัน พ.ค.67 ก็ยังไม่ได้เคาะวันใช้ที่แน่ชัด ย้ำยังมีนโยบายอื่นอีกที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ

  • เผยหากได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. คณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต จะเร่งตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการอย่างไร
  • ชี้หากโครงการเลื่อนออกไป มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้แน่นอน และอาจไม่ได้จบแค่ในปีนี้ด้วย
  • ในมุมมองตนเอง มองตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในความถดถอยระดับหนึ่ง ที่เกิดจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึงนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า รัฐบาลยังมุ่งมั่นดำเนินนโยบายต่อ โดยจากนี้ไม่ว่าข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะออกมาอย่างใดก็ตาม รัฐบาลก็จะเดินทางต่อ โดยทางคณะกรรมนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน ก็มีการประชุมหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยในรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ขณะนี้ ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการปรับหลักเกณฑ์จากเดิมที่กำหนดไว้แต่อย่างใด

สำหรับการประชุมกันคณะกรรมนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ที่ผ่านมา เป็นการหารือเพื่อเตรียมการรับมือและตอบคำถาม หนังสือของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานยืนยันรัฐยังพร้อมเดินหน้าโครงการต่อไป

“ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือจากคณะกรรมการศึกษาเงินดิจิทัลของ ป.ป.ช. โดยตอนนี้เห็นรายละเอียดแค่ตามข่าวสารที่ออกมา โดยทางรัฐบาลได้เห็นแนวทางแล้วว่าแต่ละประเด็นคืออะไร เรื่องอะไรที่ตอบได้ก็จะตอบ ส่วนที่อาจจะตอบไม่ได้ ก็เตรียมการให้ข้อเสนอนั้นมีคำตอบให้ได้ ทั้งนี้ หากได้รับหนังสือจากคณะกรรมการศึกษาเงินดิจิทัล ของป.ป.ช. แล้ว เท่ากับจบการรอฟังความเห็น และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท จะเร่งประชุมเพื่อตัดสินใจว่า จะเดินหน้าโครงการอย่างไรต่อไป”

นายจุลพันธ์ กล่าวย้ำว่า สำหรับรายละเอียดโครงการนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนยังคงตามข่อกำหนดเดิมคือ ผู้มีสิทธิร่วมโครงการ จะเป็นกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินออมไม่เกิน 500,000 บาท จำนวน 50 ล้านคน วงเงินคือ 500,000 ล้านบาท

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า หากเริ่มโครงการดิจิทัล วอตเล็ต ไม่ทันในช่วงเดือน พ.ค.67 นี้ ก็ยังไม่มีการกำหนดวันหรือเวลาชัดเจน ว่าโครงการจะเริ่มใช้จ่ายได้เมื่อไหร่ ซึ่งหวังว่าคงเลื่อนออกไปไม่นาน ทั้งนี้ หากโครงการเลื่อนออกไป ก็มีผลต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในปีนี้ที่อาจลดลงไป แต่ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่ได้จบแค่ในปี ถ้าโครงการออกมาช้า ก็จะเห็นผลการกระตุ้นในปีถัดไปแทน

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้ทำนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต แค่นโยบายเดียว โดยนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตเป็นเพียงหนึ่งโครงการที่รัฐบาลทำให้พี่น้องประชาชน ส่วนนโยบายที่จะออกมากระตุ้น ล่าสุด รัฐบาลก็มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาระหว่างรอโครงการเงินดิจิทัล โดยยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่รัฐบาลกำลังดูอยู่

สำหรับกรณีผลสำรวจของประชาชน เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) นั้น รัฐบาลก็รับฟังความเห็น แต่ยังไม่ถึงขั้นนำมาใช้ตัดสินโครงการ เพราะการสำรวจก็คือความเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่ง โดยประเด็นเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤต แน่นอนว่าคนมีรายได้อยู่ระดับบน ถ้าไม่เดือนร้อนก็อาจจะไม่รู้สึก แต่คนที่รายได้อยู่ในระดับฐานราก ก็จะบอกว่าตนเองได้รับความเดือดร้อน

“ในมุมมองผมตอนนี้เศรษฐกิจอยู่ในความถดถอยระดับหนึ่ง ที่เกิดจากภาวะของภาระหนี้ครัวเรือนสูง ทั้งในภาคประชาชน และภาคเอกชนก็สูง ถามว่าตอนนี้ใครคิดเรื่องลงทุนบ้าง บอกเลยว่าไม่มีใครมีความพร้อมที่จะคิดเรื่องการลงทุน ถ้าเป็นประชาชนก็คิดถึงแต่เรื่องการดำเนินชีวิต และการหาเงินมาจ่ายหนี้สิน ส่วนภาคเอกชนก็คิดแต่เรื่องการบริหารจัดการลดต้นทุน และลดหนี้ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก ทำให้ไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาโดยตลอด”

อย่างไรตาม ในประเด็นเรื่องของคำว่าเศรษฐกิจวิกฤต หรือเปราะบางนั้น ไม่มีการนิยามความหมายที่เป็นกลาง ไม่มีใครเป็นคนกำหนด โดยการกำหนดคำว่าแต่ละคน แต่ละหน่วยงานก็มีคำตอบแตกต่างกัน แต่ว่ารัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการบริหารราชการ ถ้ารัฐบาลมองว่าวิกฤต และผลักดันในเข้าสู่กรอบกฎหมาย รัฐบาก็ต้องเดินหน้าแก้ความเดือนร้อนให้ประชาชนให้สำเร็จ