เป๊ะตามเอกสารหลุด…คลังเคาะจีดีพีปี 66 โตที่ 1.8% คาดปี 67 โต 2.8%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยปี2566

คลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 คาดขยายตัวที่ 1.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.7% เผยเหตุจีดีพีไตรมาส 4 ปี 66 โตต่ำเป้า อยู่ที่ 1.4%

  • เผยผลมาจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดยานยนต์
  • ชี้ในปี 67 คาดจีดีพีขยายตัวที่ 2.8% ได้รับอานิสงส์การส่งออก-ภาคการท่องเที่ยว
  • ลั่นปมเอกสารหลุด ต้องรายงานข้อเท็จจริงไปก่อน ยอมรับว่าตกใจเหมือนกัน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 (จีดีพี) คาดขยายตัวที่ 1.8% และมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.6-2.0% โดยก่อนหน้าทาง สศค. ได้คาดเศรษฐกิจปี 66 ขยายตัวไว้ที่ 2.7% และชะลอลงจากปี 65 ที่เติบโต 2.6%

ทั้งนี้ หลังจบการแถลงข่าวกลุ่มสื่อมวลชนได้มีการสอบถามว่า เหตุที่คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 66 ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ มาจากถูกกดดันจากการเมืองหรือไม่ นายพรชัย กล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจของ สศค. มีความรอบครอบ ซึ่งดูได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจรายไตรมาสปี 66 ได้แก่ ไตรมาส 1 ขยายตัว 2.6%, ไตรมาส 2 ขยายตัว 1.8%, ไตรมาส 3 ขยายตัว 1.5% โดยหากต้องการให้เศรษฐกิจปี 66 ขยายตัวได้ตามคาดการณ์ 2.7% จีดีพีไตรมาส 4 จะต้องขยายตัวได้ 4-5% แต่ตัวเลขนั้นไม่มีสัญญาณขยายตัวที่ชัดเจน แต่พบสัญญาณการเติบโตที่ไม่ค่อยดีเท่าไร และคาดว่าไตรมาส 4 จะขยายตัวได้แค่ 1.4%

“สศค. มีความมั่นใจว่าสิ่งที่ประมาณการจีดีพีออกมา 1.8% สอดคล้องกับสถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภาคเอกชน โดยจากการติดตามการประมาณการเศรษฐกิจ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขาย และการทำธุรกรรมต่างๆ ในช่วงเดือน ม.ค.67 ก็มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวที่ 2%”

นายพรชัย กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจ ปี 66 ก็มีผลมาจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ ที่ติดลบมาถึง 23 เดือน และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ติดลบ 15 เดือน ขณะที่การส่งออกก็คาดว่าจะหดตัว -1.5% (ช่วงคาดการณ์ -1.8 ถึง -1.3%) ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และมูลค่าการนำเข้าก็คาดว่าจะหดตัวที่ -1.9% (ช่วงคาดการณ์ที่ -2.2 ถึง -1.7%)

นอกจากนี้ สถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 2566 ยังมีความผันผวนโดยอ่อนค่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 และแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 มีสาเหตุหลักมาจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีน และนโยบายการเงินผ่อนคลายของญี่ปุ่น

นายพรชัย กล่าวว่า ยังพบว่าตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของไทยในปี 2566 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนไทยสุทธิ -3.3 แสนล้านบาท เป็นผลจากกระแสเงินทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจากทั้งตลาดหลักทรัพย์ -1.9 แสนล้านบาท และตลาดพันธบัตรไทยที่ -1.4 แสนล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยต่อเนื่องตลอดทั้งปี

“สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3%) โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ และภาคการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 19.5% ต่อปี”

ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่าในปี 67 จะเป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% ต่อปี

ทั้งนี้ ยังมีการสอบถามถึงประเด็นกรณีเอกสารการแถลงข่าวประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลุดออกมาเมื่อวันที่ 23 ม.ค.67 ที่ผ่านมา โดยมีการระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 66 ขยายตัวที่ 1.8% นั้น โดยนายพรชัย กล่าวว่า ตัวเลขที่ทีมสศค.ทำมามีหลายเวอร์ชัน และการขยายตัวได้ 1.8% ก็เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันที่มีการทำกันมา โดยทีมงานได้มีการทำข้อมูลมาก่อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้การภายใน

ส่วนกรณีที่เอกสารได้เผยแพร่ออกไปได้อย่างไรนั้น ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงตามระบบราชการแล้ว รวมถึงได้ดำเนินการรายงานข้อเท็จจริงแจ้งให้ปลัดกระทรวงการคลังรับทราบด้วยแล้วเช่นกัน

“สิ่งที่สามารถทำได้ตอนนี้ คือการรายงานข้อเท็จจริงไปก่อน ซึ่งจากเหตุที่เกิดขึ้นก็ยอมรับว่า สศค.ตกใจเหมือนกัน ซึ่งเอกสารที่หลุดไปก็เป็นเวอร์ชันหนึ่งที่นั่งคุยกัน”