“ปิยสวัสดิ์” ลั่น! กังวลใจหลังคมนาคม-คลัง จับมือดันขอตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูอีก 2 คน หวั่นเข้ามาทำให้การทำงานยุ่งยาก ล่าช้า เหตุวิกฤตที่ผ่านมาปรากฎชัดว่ามีรายได้ กำไรทะลัก! ด้านการบินไทย ยอมรับดีลแอร์ไลน์ต่างชาติซื้อหุ้นเพิ่มทุน PP แต่ยุติการเจรจาแล้ว
- ชี้เหตุไม่คุ้มกับการต้องแลกให้ THAI ออกจากสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์ และปรับเครือข่ายการบินใหม่
- พร้อมแย้ม อยู่ระหว่างเจรจาบุคคล-กองทุน เข้าซื้อหุ้น PP แทน
- ลุ้น 29 พ.ย.นี้ ที่ประชุมเจ้าหนี้โหวตกรณีกระทรวงคลังเสนอ 2 รายชื่อเป็นผู้บริหารแผน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งล่าสุดการดำเนินการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนก็ประสบความสำเร็จด้วยดี
โดยมี 1.การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน มูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100%
ขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50%
2. การใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ ซึ่งในระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท
3.การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน1,304.5 ล้านหุ้น โดยรวมการดำเนินการข้อ 1-3 คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการทั้งสิ้น 53,453.2 ล้านบาทเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของ การบินไทย กลายเป็นบวกภายในสิ้นปี 2567อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
นอกจากนี้ การบินไทยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไปภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ จำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ การบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของ การบินไทยตามลำดับ ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น โดยสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด
ทั้งนี้ โครงสร้างการถือหุ้นหลังจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในเบื้องต้น คือ 1.กระทรวงการคลังถือหุ้น 33.4% 2.องค์กรรัฐวิสาหกิจ 4.1% 3.กองทุนวายุภักษ์ 2.8% 4. ผู้ถือหุ้นอื่น (เดิม) 2.8% 5. เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ44.3% และ 6.ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานการบินไทยและผู้ถือหุ้นเพิ่มทุนบุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) หรือ PP ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 12.6%
นายปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวต่อ ถึงกรณีที่กระทรวงการคลัง ได้ยื่นขอเพิ่มผู้บริหารในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู อีก 2 ราย คือ1.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง และ 2.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคมนั้น
จะมีการพิจารณาในที่ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อแก้ไขแผน 3 ฉบับ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน นี้ ส่วนการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เปิดให้เจ้าหนี้ลงมติล่วงหน้าระหว่างวันที่ 14-21 และ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ในเรื่องนี้ยังไม่ทราบผลการลงมติล่วงหน้า ว่ามีผลอย่างไร เพราะรายละเอียดการลงมติอยู่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสุดท้ายยังต้องรอผลที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ ด้วยว่าจะยอมรับคำร้องให้มีผู้บริหารแผนเพิ่มอีก 2 รายดังกล่าวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า หากมีผู้บริหารแผน 5 ราย และ 3 ใน 2 รายเป็นฝ่ายรัฐ ก็อาจสร้างความยุ่งยากในการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่คล่องตัวมากเท่ากับการมีคณะผู้บริหารแผน 3 ราย แบบที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันเชื่อว่าหลายฝ่ายไม่ต้องการให้ การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล , พนักงานการบินไทย , ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ เพราะในการฟื้นฟูกิจการได้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า การที่ การบินไทยมีสถานะเป็นเอกชนนั้น ทำให้การฟื้นฟูกิจการสัมฤทธิ์ผลตามแผน
โดยสามารถกลับมามีกำไรสุทธิในปี 2566 ที่ 28,096 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะสถานะเอกชน มีความคล่องตัวในการบริหารงานสูงกว่า ไม่มีระเบียบปฏิบัติและขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนรัฐวิสาหกิจ
“ตนยอมรับว่าตนมีความกังวลในเรื่องอื่นมากกว่าการที่ การบินไทยจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ นั่นคือการจัดตั้งคณะกรรมการ การบินไทย จำนวนไม่เกิน 15 คนหลังจากนี้ ซึ่งจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2568 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ และหากมีบุคลากรจากฝ่ายรัฐเป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการ ที่ต้องมาบริหาร การบินไทย ในฐานะองค์กรเอกชน ก็น่าจะเกิดความวุ่นวายได้” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยได้มีการเจรจากับสายการบินต่างชาติ 2 ราย เพื่อให้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน ประเภทบุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) ของ THAI แต่ได้ยุติการเจรจาไปแล้ว เนื่องจากทั้ง 2 สายการบินดังกล่าว มิได้เป็นสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์
โดยหากมาร่วมเป็นผู้ถือหุ้น ทางการบินไทย จะต้องออกจากความเป็นสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และต้องมีการปรับเครือข่ายเส้นทางบินใหม่ จึงอาจไม่สร้างประโยชน์กับการบินไทย
ทั้งนี้ แต่ในอนาคตก็ยังต้องรอดูต่อไปว่า การบินไทยจะมีการเจรจาแบบกรณีดังกล่าวอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับบุคคลที่มีศักยภาพ และกองทุนในประเทศ เพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน PP แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ด่วน! การบินไทย ให้เจ้าหนี้แสดงสิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุน 19-21 พ.ย.67