

อว – บพท.ต่อยอดแผนรับมือภัยพิบัติ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมพลังเครือข่ายมหาลัยชายแดนใต้ 3 ภาคีเครือข่ายภูมิภาค ท้องถิ่น ประชาสังคม ถอดบทเรียนอุทกภัยร้ายแรง ธ.ค.66 ดีไซน์ใหม่กลไกเบ็ดเสร็จและยั่งยืน
- อว.นำ บพท.ผนึก 3 มหาลัยดีไซน์แผนรับมือภัยพิบัติ 3 จังหวัดชายแดนใต้
- ถอดบทเรียนความเสียหาย 90,000 ครัวเรือน ก้าวสู่ทางรอดใหม่แบบเบ็ดเสร็จยั่งยืน
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ( บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพท. ได้ต่อยอดแผนรับมือภัยพิบัติ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศึกษาค้นคว้าหาแนวทางฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ประสบภัย และมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่รับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืน เพื่อให้ความเสียหายอยู่ในวงจำกัด ตามนโยบายนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ที่มุ่งผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทนำความรู้ไปช่วยเหลือสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
ซึ่งทาง บพท.ได้รับแรงกระตุ้นให้ต่อยอดทำโครงการนี้ เพราะเมื่อเดือนธันวาคม 2566 เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ในชายแดนใต้ 3 จังหวัด ทั้งนราธิวาส ยะลา และปัตตานี มีพื้นที่ประสบภัยมากถึง 806 หมู่บ้าน 142 ตำบล 25 อำเภอ มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายกว่า 90,000 ครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนยากจนและครัวเรือนเปราะบาง ได้รับผลกระทบรุนแรงหนักที่สุด จึงต้องเร่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ทำแผนเผชิญภัยพิบัติ ด้วยวิชาความรู้จากงานวิจัย และพลังเครือข่ายภาคีในพื้นที่ เริ่มมาตั้งแต่เกิดอุทกภัยในพื้นที่ ด้วยการประยุกต์งานวิจัยนวัตกรรมไปช่วยเหลือชาวบ้าน ต่อเนื่องมาจนถึงการใช้งานนวัตกรรมช่วยเหลือฟื้นฟูครัวเรือนยากจน ครัวเรือนเปราะบาง

ล่าสุดได้ยกระดับความร่วมมือให้สูงขึ้นและต่อยอดความร่วมมือเพิ่มขอบเขตกว้างขึ้น ด้วยการจัดเวทีระดมความคิดเห็นร่วมกันที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส โดยมีนักวิจัย ตัวแทนภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักการเมืองในพื้นที่ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อสร้างชุดความรู้ใหม่ ตลอดจนชุดกลไกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.กิตติ กล่าวว่า คาดหวังนำความเห็นจากวงสนทนามาเป็นแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ประสบภัยพิบัติพัฒนาชุดข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน การพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครเผชิญภัยพิบัติการสร้างเครือข่ายความร่วมมือมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ในการจัดการภัยพิบัติ โดยขยายผลความรู้จากงานวิจัย ไปสู่การแก้ปัญหาภัยพิบัติให้ได้อย่างรวดเร็ว เบ็ดเสร็จและยั่งยืนต่อไป -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน