นักวิชาการ-ผู้บริหาร ชี้ถึงเวลาเปิดโอกาสสุราชุมชนไทย..ไปโกอินเตอร์

สำนักข่าวเออีซี 10 นิวส์ ได้จัดงานเสวนา “สุราชุมชน โกอินเตอร์”


นักวิชาการ-ผู้บริหารภาคเอกชน ประสานเสียง วอนภาครัฐดันสุราชุมชนไทยเต็มสูบ เชื่อสามารถบุกตลาดโลกได้แน่นอน เผยรัฐบาลที่ผ่านนมา ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ เงื่อนไขให้ดีขึ้นแล้ว ลั่นแต่ยังติดขัดบางเรื่อง เช่น การจัดเก็บภาษีสุราให้ยุติธรรม การพัฒนา-ส่งเสริมผู้ประกอบการแบบจริงจัง การเสริมความรู้ด้านการส่งออกให้ผู้ผลิต

ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวเออีซี 10 นิวส์ ได้จัดงานเสวนา “สุราชุมชน โกอินเตอร์” โดยเวทีนี้ ได้เชิญเหล่านักวิชาการและภาคเอกชน ที่คลุกคลี่ในแวดวงนี้ ประกอบไปด้วย นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายสุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พร้อมด้วย นายเก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย)  จํากัด และ น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ กรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปบี จำกัด และเลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟเบียร์ มาร่วมแบ่งปันให้ความรู้ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ เปิดเผยว่า หลังจากปี 2563 มีประชาชนเริ่มขยับมาทำสุราชุมชนมากขึ้น จากพื้นเพเดิมที่ประเทศไทยสามารถทำสุราได้ เช่น สาโท เหล้าอุ ขณะที่ต่างชาติ เช่น จีนมีเหมาไถ ญี่ปุ่นมีสาเก เกาหลีใต้มีโซจู ซึ่งประเทศไทยมีประชาชนที่ได้รับรางวัลจากการผลิตสุราชุมชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีการพิจารณากฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนให้มีการผลักดันสุราชุมชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างการรู้จักมากยิ่งขึ้น

“ย้อนกลับไปในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบายทำโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งสุราก็เป็นสินค้าที่ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ เกิดรายได้มากขึ้น รวมถึงมีการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับสุราชุมชนเข้าร่วมงาน และเริ่มแก้ไขกฎหมายเรื่อยมา” นายวิสาร กล่าว

ด้านนายสุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะนี้ คือการทำธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว กฎระเบียบในการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่สมเหตุสมผล อาทิ การกำหนดเวลาขาย ไม่สมเหตุสมผล และยังห้านในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประเด็นสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ ในมุมนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระบุว่า ตนเป็นผู้ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ และการได้ดื่มจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดี เมื่อได้ดื่มอย่างปกติ และเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม ดังนั้น ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของนักท่องเที่ยว ขณะที่กฎหมายการโฆษณา ก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน เพราะกฎหมายที่ไม่ชัดเจน นำไปสู่การเปิดให้ทางเจ้าหน้าที่บางราย ใช้เรียกรับสินบนจากผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ในส่วนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีความไม่สมเหตุสมผลหลายประการ เช่น การเก็บภาษีสรรพสามิตที่มีฐาน ทั้งจากปริมาณแอลกอฮอล์และมูลค่าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุราขาว ที่มีปริมาณการขายสูงสุด แถมมีแอลกอฮอล์ที่เก็บภาษีได้ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งการเน้นที่ปริมาณแอลกอฮอล์จะช่วยลดผลกระทบข้างเคียง เช่น การเมาแล้วขับ จนเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท เป็นต้น

“การปรับลดภาษีอย่างเหมาะสม จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเกิดซอฟต์พาวเวอร์ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย โดยเฉพาะเครื่องดื่มแบบค็อกเทล ที่แต่ละร้านเขาจะมีสูตร และส่วนผสมค็อกเทลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งก็จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว พร้อมทั้งเกิดการหมุนเวียนรายได้ภายในประเทศ รวมถึงเกิดการจ้างงานตามมาอีกด้วย” นายสุทธิกร กล่าว

สำนักข่าวเออีซี 10 นิวส์ ได้จัดงานเสวนา “สุราชุมชน โกอินเตอร์”

นายเก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย)  จํากัด กล่าวว่า ในฐานะผู้นําเข้าและจัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ รู้สึกดีใจที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับสุราชุมชน

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีประเด็นที่ต้องแก้ไขคือ 1.กฎหมายที่เอื้ออำนวยกับการให้รายย่อยผลิตสุราได้ 2.กฎหมายที่เอื้อต่อการขาย ทั้งการปลดล็อก กำหนดเวลาการจำหน่าย และการโฆษณา และ 3.ความร่วมมือ และการพัฒนาให้สุราไทย ก้าวสู่การโกอินเตอร์ให้ได้

ทั้งนี้ อย่างของบริษัท ดิอาจิโอ นั้น เป็นแบรนด์ที่อยู่มา 200 ปีแล้ว โดยเมื่อก่อนก็เป็นสุราพื้นบ้านของประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งสกอตแลนด์เก่งในเรื่องของการผลิตวิสกี้ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทย ก็สามารถผลิตได้ทุกแบบ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องคุณภาพ แพคเกจจิ้ง การทำตลาด ที่นี้ก็ต้องมาวางแผนว่า จะทำอย่างไรให้เขานึกถึงแบรนด์เรา

“ส่วนตัวถ้ามองให้คะแนน 0-100 คิดว่า ไทยยังไม่ถึง 10 คะแนน โดยประเทศไทยนับว่า อยู่ในช่วงตั้งไข่ แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่พยายามช่วยกันสร้างให้ดีขึ้นได้” นายเก่งการ กล่าว

ทั้งนี้ ดิอาจิโอ สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมสุราพื้นบ้านไทยได้โดย 1.การพัฒนาสถานที่ผลิตให้มันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่สกอตแลนด์ มี Johnnie Walker Princes Street และ 2.การตลาด ที่หากรัฐบาลได้เจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับยุโรปและอังกฤษ รวมทั้งนำภาษีบรรจุไปในสินค้าที่ได้รับยกเย้นภาษี ก็จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดในยุโรปได้ แต่ในระยะอันใกล้นี้ จากที่มีไทยเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ก็ลองส่งออกไป10 ประเทศ เพื่อนบ้านก่อนก็ได้

น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ กรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปบี จำกัด และเลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟเบียร์ กล่าวว่า ในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจอยากนำเหล้า สุราชุมชน หรือ คราฟเบียร์ ส่งออกไปขายต่างประเทศเป็นจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรปก็มี นั้นแปลว่าสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารไปได้ไกล และคิดว่า เครื่องดื่มไทย ก็มีโอกาสที่จะไปได้ไกลในระดับโลกเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสิ่งที่เป็นปัญหา นั้นคือ ผู้ผลิตเหล้าชุมชนคือรายย่อย ที่ไม่มีความเข้าใจหรือความรู้เรื่องการส่งออก โดยสิ่งแรกคือต้องการให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ เข้าไปแนะนำและสร้างความเข้าใจ

ขณะที่ สมาคมจัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าไปทำเรื่องกฎหมายที่ช่วยปลดล็อกคราฟเบียร์ รวมถึงสุราชุมชน โดยการเข้าไปนั่งคณะกรรมาธิการในการแก้กฎหมาย เนื่องจากสมาชิกต่างมองเห็นว่า กฎหมายที่เป็นอุปสรรคหลัก ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย ไม่สามารถพัฒนาสินค้าและธุรกิจได้ ส่วนเรื่องของภาษีสรรพสามิต ก็เป็นต้นทุนที่ทำให้ คราฟเบียร์ ราคาสูงจนคนไม่ค่อยดื่ม โดยสรุปเรื่องภาษีก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่สมาคมฯ พยายามจะเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขต่อไปในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลัง จ่อชงครม.ลดภาษี “ไวน์-สุราชุมชน”หนุนไทยสวรรค์นักท่องเที่ยว