NIA เปิดโมเดลซอฟท์ เพาเวอร์ โคดำลำตะคอง รายได้โตแรง 65%

NIA โชว์พลังซอฟท์ เพาเวอร์เทรนด์ใหม่ “โคดำลำตะคอง” โคราช นวัตกรรมโคเนื้อลูกครึ่ง 3 สายพันธุ์ “พื้นเมือง – วากิว – แองกัส” จัดใหญ่เทศกาลเนื้อ 1-4 ก.พ. 67 ดันเศรษฐกิจ “นครบุรินทร์” ให้เกษตรกรเลี้ยงโค 4 จังหวัด รายได้โตสูงสุด 65%

  • NIA-อุทยานวิทย์ฯ ลุยปั้นซอฟต์พาวเวอร์โคราช นครบุรินทร์อีสาน 4 จังหวัด
  • เปิดโมเดล “โคดำลำตะคอง” จัดไทยแลนด์บีฟเฟสต์ 2024

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) “NIA” เปิดเผยว่า NIA นำร่องนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านการจัดมหกรรมงาน “Thailand Beef Fest 2024” ระหว่าง 1-4 กุมภาพันธ์2567 โดยเปิดพื้นที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลักดันโคดำลำตะคอง นำเสนอกิจกรรมไฮไลท์ ได้แก่ นิทรรศการแสดงพันธุ์วัวไทย เทคโนโลยีการถ่ายทอดพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง โรงเลี้ยงจำลอง การจัดแสดงสายพันธุ์วัว และนิทรรศการพันธุ์วัวเนื้อต่างประเทศ โชว์ศักยภาพและความสำเร็จจากการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ในส่วนภูมิภาค เมือง และย่านนวัตกรรม ผ่านตัวอย่างการผลักดันพื้นที่นครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงกลุ่มนครชัยบุรินทร์ เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงของเมืองไทย หากประสบความสำเร็จจะกลายเป็นต้นแบบสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวกลุ่มเมืองรอง และเมืองอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม

โครงการนี้ช่วยตอกย้ำแนวทางพัฒนาเป็นต้นแบบสร้างมาตรฐานการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง ด้วยการนำศักยภาพพื้นที่มาผนวกใช้นวัตกรรมเข้าไปปรับเปลี่ยนและยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ แล้วสร้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ หรือชุมชน เติบโตอย่างเข้มแข็ง ผลักดันให้เนื้อวัว “โคดำลำตะคอง” เนื้อโคไทยคุณภาพสูงที่ได้จากนวัตกรรมการผสม 3 สายพันธุ์ “โคพื้นเมือง – วากิว – แองกัส” พัฒนาผลักดันให้พื้นที่นครราชสีมาและกลุ่มนครชัยบุรินทร์ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงของเมืองไทย ทั้งในฐานะแหล่งผลิตโคเนื้อ พื้นที่ต้นแบบด้านการสร้างมาตรฐานการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงเป็นตัวอย่างการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ด้วยการนำทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพทางภูมิศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์

พื้นที่นี้โดดเด่นทั้งด้านปริมาณการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในไทยถึง 50 % จากการผลิตโคเนื้อทั่วประเทศจำนวน 1.495 ล้านตัว และเป็นแหล่งผลิตอาหารด้านการผลิตโคเนื้อที่สำคัญ เช่น หญ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพด และธัญพืช มีหน่วยขับเคลื่อนด้านงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูงแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยพร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร และผู้ประกอบการปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง

เช่น การวิจัยด้านปรับปรุงสายพันธุ์ การพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงโคในทุกช่วงวัย การส่งเสริมกระบวนการเลี้ยงโคตามมาตรฐาน GFM และการส่งเสริมการแปรรูปเนื้อโค เพื่อเข้าไปปรับเปลี่ยนและยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ สามารถยกระดับรายได้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อขายได้ราคาดี 105 -145 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่เนื้อวัวคุณภาพสูงของไทยยังมีไม่เพียงพอตอนนี้จึงต้องนำเข้าสูงกว่า 7,000 ล้านบาท/ปี

ดร.กริชผกา กล่าวว่า ยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับการท่องเที่ยวนครราชสีมาตามเส้นทางยอดนิยม ได้แก่ เขาใหญ่อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว มีร้านอาหารจำนวนมากที่ใช้เนื้อวัวเป็นวัตถุดิบเสิร์ฟเมนูสเต๊กผลักดันให้เนื้อวัว“โคดำลำตะคอง” กลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ได้ ดังนั้น NIA จึงร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดงาน Thailand Beef Fest 2024 จัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ รวมถึง นิทรรศการพันธุ์วัวเนื้อต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล โชว์ทำอาหารจากเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมโดยเชฟมืออาชีพ สร้างปรากฏการณ์ดึงดูดคนรักเนื้อวัวไทยกับการรวมที่สุดของ “เนื้อ” คุณภาพพรีเมี่ยมในไทย ร่วมศึกษาต่อยอดสู่ “ย่านนวัตกรรมโคเนื้อ” เพื่อคิด ผลิต ขาย และพัฒนา เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคต

ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า ข้อมูลจากปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาพบมีเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อกว่า 185,400 ราย เป็นโคเนื้อ 530,000 ตัว มีฟาร์มโคเนื้อที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP 7 แห่ง มาตรฐาน GFM 133 แห่ง และมีโรงเชือดที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคฯ จึงเข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน รวมกลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงโคและผู้ประกอบการ เพื่อหาความต้องการจากเกษตรกรและผู้ประกอบการ แล้วนำมาจับคู่กับเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีนักวิจัยที่มีองค์ความรู้เข้ามาช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันก็ได้สร้างกิจกรรมส่งเสริมและขยายตลาดให้กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการผ่านแพลตฟอร์มให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความพร้อมสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูงปัจจุบันมีเครือข่ายที่มีเทคโนโลยีสนับสนุนเพิ่มมูลค่ามากมาย เช่น เทคโนโลยีแยกเพศอสุจิโคด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพเนื้อระดับพันธุกรรมด้วยเทคนิค เพื่อตรวจสอบคุณภาพเนื้อระดับพันธุกรรมร่วมกับการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอที่พัฒนาขึ้น เพื่อวิเคราะห์เครื่องหมายทางพันธุกรรมที่สำคัญและมีความเกี่ยวเนื่องกับปริมาณไขมันแทรกในเนื้อโค และจัดสร้างฐานข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบระดับเลือดผสมวากิวก่อนส่งเข้ากระบวนการขุน และใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงพันธุ์ในเชิงพาณิชย์ ทำแพลตฟอร์มใช้ตรวจสอบคุณภาพเนื้อระดับพันธุกรรมเพื่อให้เกษตรกรตรวจประวัติโคได้ง่าย และเพิ่มความมั่นใจถึงผลลัพธ์ที่ดีขุนโคลูกผสมวากิวแต่ละครั้งด้วย

ดร. มาเรีย ราโฮฟสกายา ผู้ช่วยที่ปรึกษาเอกอัครราชทูต ฝ่ายกิจการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณ NIA ที่เชิญกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมโคเนื้อสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมงาน Thailand Beef Fest 2024 เพื่อส่งเสริมตลาดโคเนื้อในไทย และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-ไทย เนื่องจากสหรัฐมีชื่อเสียงด้านการผลิตเนื้อวัวคุณภาพสูงเลี้ยงด้วยธัญพืช (Grain-fed) เป็นผลิตภัณฑ์ปลอดภัย นุ่ม อร่อย น่าเชื่อถือปัจจุบันสหรัฐมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 17% ของสินค้าทางการเกษตรทั้งหมด ทางเจ้าของฟาร์มโคใน 50 รัฐเลี้ยงโคมากกว่า 89 ล้านตัว ส่วนไทยกำลังจะขยายอุตสาหกรรมโคเนื้อ ทางสหรัฐฯ พร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ และยินดีจะร่วมมือเพื่อปรับปรุงทางพันธุศาสตร์และโภชนาการของโค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเนื้อวัวคุณภาพสูงต่อไป

นายอรรควัฒน์ วิริยะขจรเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.วี.เค.ฟาร์ม โปรดักส์ จำกัด ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยสุรนารี อธิบายถึงความพิเศษเนื้อ “โคดำลำตะคอง” ว่าเป็นลูกผสม 3 สายพันธุ์ที่ดึงคาแรคเตอร์และคุณภาพเนื้อแต่ละสายพันธ์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน ได้แก่ 1.ลูกผสมพื้นเมืองมีรสชาติเข้มข้นและกลิ่นหอม มีความถึกทน 2.วากิว มีเอกลักษณ์คือปริมาณไขมันแทรกในเนื้อคล้ายกับลายหินอ่อน และ 3.แองกัส เจริญเติบโตไว มีอัตราการแลกเนื้อสูงและทนต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ดี ปัจจุบันสามารถทำให้เกิด “พ่อพันธุ์กึ่งสำเร็จรูป” ผสมเพียงครั้งเดียวได้ลูกผสม 3 สายเลือด ลดระยะเวลาผลิตลงไป 3 ปี นอกจากความพิเศษของสายพันธุ์แล้ว ยังเลี้ยงอย่างปราณีตและพิถีพิถัน ทำให้โคเหล่านี้มีสุขภาพดีคุณภาพสูงที่มีกลิ่นรสชาติเด่นเป็นเอกลักษณ์ “โคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ชุ่มมัน” และมีโอเมก้า 9 เป็นสารอาหารสำคัญ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูงในพื้นที่ เมื่อเทียบกับเนื้อโคที่เกษตรกรเลี้ยงแบบเดิมจะขายได้เพียง 82 บาท/กิโลกรัม โคเนื้อคุณภาพสูงจะขายได้ 105-145 บาทต่อกิโลกรัม ทำรายได้เพิ่มขึ้นขั้นต่ำปีละ 28% หากเกษตรกรพัฒนาคุณภาพเนื้อโคได้ถึงเกรดสูงสุดจะมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดปีละ 65 % ด้วยนั่นเอง -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน