ประชุม กนง. วันนี้ คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียงเห็นควรลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี ชี้เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ เผยอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ เอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ การเงินในระยะยาว
- เผยต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
- ชี้ภาวะการเงินโดยรวม ตึงตัวขึ้น ตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวน จากมุมมองผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ
- เผยคณะกรรมการฯ หวังปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs พร้อมสนับสนุนมาตรการ เพื่อแก้ปัญหา
- ชูมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ สนับสนุนนโยบายของ ธปท. ให้สถาบันการเงิน ช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้
วันนี้ (21 ส.ค.67) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 21 ส.ค. 2567 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้อง กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่กรรมการ1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
นายปิติ กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป จะชะลอลงบ้าง หลังขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า
ขณะที่การส่งออกสินค้า และภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกสินค้าบางกลุ่ม ยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน ยังฟื้นตัวแตกต่างกัน โดยรายได้แรงงานในภาคการผลิต และผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะต่อไป ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มชะลอลง ตามผลผลิตที่ขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ที่ส่งผลให้แนวโน้มราคาหมวดพลังงาน และอาหารสด ไม่เร่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีตประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 แต่ต้องติดตามการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
นอกจากนี้ ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวน จากมุมมองผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับแข็งค่า
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย ปรับลดลงตามการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ และตลาดตราสารหนี้ ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมทรงตัวโดยสินเชื่อในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์หดตัว ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น ด้านสินเชื่อครัวเรือนชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ที่ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้าคณะกรรมการฯ เห็นว่า ควรติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นายปิติ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงสนับสนุนมาตรการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เกิดขึ้นต่อเนื่อง
“ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน ยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว” นายปิติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจ และภาวะการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสม กับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงอัตรา ดอกเบี้ย ไว้ที่ 2.50% ต่อปี