BEM เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11% หลังจำนวนผู้โดยสารและรายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเติบโตต่อเนื่อง ชี้จากปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบราง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- คาดว่าปีนี้กำไรบริษัทฯ ทะลุเกินเป้า เผยแนวโน้มอนาคตสดใส
- ชี้สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะมาเสริมความแข็งแรง สร้าง New S-Curve
- เผยแผนสายสีส้ม กำหนดแล้วเสร็จในส่วนตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้บริการเดินรถภายใน 3 ปี 6 เดือน
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 ว่า จากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่ และการจัดกิจกรรมต่างๆ ตามสถานที่รอบเส้นทางรถไฟฟ้า รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบราง ครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ส่งผลทางบวกให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสายวงกลม มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ BEM มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2567 จำนวน 1,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 102 ล้านบาท คิดเป็น 11%
โดยรายได้จากธุรกิจหลักมีจำนวน 4,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116 ล้านบาท หรือ 3% ประกอบด้วยรายได้จากธุรกิจทางพิเศษ จำนวน 2,114 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจระบบรางหรือรถไฟฟ้า MRT จำนวน 1,603 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ มีรายได้จำนวน 306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10%
ทั้งนี้ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานแล้วเมื่อ 31 ก.ค. 2567 โดยแผนกำหนดแล้วเสร็จสำหรับส่วนตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในการให้บริการเดินรถ ภายใน 3 ปี 6 เดือน
ทั้งนี้ BEM มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการในส่วนนี้ได้ก่อนกำหนดแน่นอน และส่วนตะวันตกจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี ซึ่งการได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ จะเป็น New S-Curve ช่วยเสริมให้ธุรกิจของ BEM เติบโตได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน รวมทั้งช่วยหนุนปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
“BEM จะยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างเข้มแข็ง ด้วยความพร้อมและความมุ่งมั่นในการส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” นายสมบัติ กล่าว
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ครม.อนุมัติหลักการกฏหมายเวนคืนอสังหาฯ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน