สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความเปราะบาง ทั้งจากปัญหาเรือนครัวเรือนที่พุ่งสูง การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง การบริโภคภายในที่ชะลอตัว ภาคการผลิตก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบ มาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
รวมถึงสถานการณ์ตลาดดัชนีหุ้นไทย ที่เวลานี้ดัชนีหุ้นหลุดไปต่ำกว่า 1,300 จุดไปแล้ว อีกทั้งเหตุการณ์ของเหล่าบรรดาบริษัท ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีปัญหาในเรื่องความไม่โปร่งใส ในการประกอบกิจการของผู้บริหาร ก็ล้วนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ทั้งนี้ โดยพันธกิจที่มีกับผู้ถือหุ้น บรรดาบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องลุยเดินหน้าต่อหยุดเสียมิได้ ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่บริษัทเหล่านี้ เลือกใช้ก็คือการรมดมทุนผ่าการ “ออกหุ้นกู้” เพื่อนำเงินที่ได้มานั้น ไปดำเนินธุรกิจสร้างผลกำไรกลับคืนมา จ่ายดอกผลให้ผู้ถือหุ้นทุกคน หรือเพื่อเสริมสภาพคล่อง
ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดกับหลายๆ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นทางลบ ก็เกิดเป็นความหวาดระแวงในกลุ่มนักลงทุนในการที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นกู้นั้น ดีหรือไม่?
วันนี้ ทีมข่าว The Journalist Club จะขอนำเสนอและเทียบเปรียบ หุ้นกู้ที่ออกมาจากธุรกิจที่อยู่ในประเภทกิจการเดียวกัน มีการเสนอขายที่มูลค่าใกล้เคียงกัน แต่มีความน่าสนใจรายละเอียดด้านใน
นั่นคือการออกหุ้นกู้ ของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด หรือ VSK กับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW โดยทั้งคู่ดำเนินธุรกิจ ในการบริหารจัดการระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำ หรือการขายน้ำดิบ เหมือนกัน อีกทั้งยังมีการออกหุ้นกู้ ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันด้วย
โดยทางวงษ์สยามฯ เปิดให้จองซื้อหุ้นกู้ ตั้งแต่วันที่ 5–7 ส.ค. 2567 ขณะที่ด้าน EASTW เปิดให้จองซื้อหุ้นกู้ ในวันที่ 1-2 ส.ค. และวันที่ 5 ส.ค. 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงใกล้มาก เท่านั้นไม่พอในส่วนของวงเงิน ที่ออกหุ้นกู้ เหมือนนัดกันมา ที่มูลค่า 2,200 ล้านบาทเท่ากันพอดี อีกทั้งยังขายให้กับนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่เหมือนกันอีก ดุจดังเป็นคนรู้ใจ
จุดประสงค์การใช้เงินต่างกัน
ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกลงในรายละเอียด ก็จะพบความแตกต่างของหุ้นกู้ของทั้ง 2 บริษัท โดยวัตถุประสงค์การใช้เงินของวงษ์สยามฯ จะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้ ไปใช้ในการลงทุน และก่อสร้างระบบท่อน้ำดิบในภาคตะวันออก ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ส่วนทางด้านอีสท์วอเตอร์ จะนำเงินจากการขายหุ้นกู้ ไปชำระคืนหนี้ จากการออกตราสารหนี้ระยะสั้น (ตั๋วแลกเงินระยะสั้น) รวมทั้งใช้ซื้อสินทรัพย์ หรือลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่พบ สำหรับในส่วนของผลประกอบการระหว่างวงษ์สยามฯ และอีสท์ วอเตอร์ ในงวดไตรมาส 1 ปี 67 พบว่า วงษ์สยามฯ มีรายได้อยู่ที่ 555.49 ล้านบาท ส่วนอีสท์ วอเตอร์ มีรายได้ที่ 1,066.17 ล้านบาท จนเห็นว่าอีทส์ วอเตอร์ มีรายได้มากกว่า วงษ์สยามฯ เกือบครึ่ง
แต่พอมาถึงในส่วนของกำไรสุทธิ ของไตรมาส 1 ปี 67 กลับเป็นทางวงษ์สยามฯ ที่มีกำไรสุทธิที่ 83.81 ล้านบาท ขณะที่ทาง อีสท์ วอเตอร์ ขาดทุนสุทธิ 18.66 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในการเปรียบเทียบระหว่าง หุ้นกู้วงษ์สยามฯ และหุ้นกู้อีสท์ วอเตอร์ ก็พบว่า หุ้นกู้ของวงษ์สยามฯ เป็นหุ้นกู้ประเภทระบุชื่อ ไม่ด้อยสิทธิ มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้น รวมถึงได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในระดับ AAA
ส่วนของอีสท์ วอเตอร์ เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และไม่มีหลักประกัน และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยองค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ A และหุ้นกู้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ A
อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ ไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของรายละเอียดหุ้นกู้ ทั้ง 2 บริษัท แตกก็มีอายุหุ้นกู้ ที่เหมือนกัน คือ อายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี แต่ความต่างอยู่ที่ อัตราดอกเบี้ย ที่จะได้รับ
โดยหุ้นกู้ของวงษ์สยามฯ แบ่งเป็น ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี มูลค่า 400 ล้านบาท ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2572 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี มูลค่า 800 ล้านบาท
ชุดที่ 3 อายุ 7 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2574 อัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี มูลค่า 500 ล้านบาท และชุดที่ 4 อายุ 10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2577 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี มูลค่า 500 ล้านบาท โดยกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ในวันที่ 8 ก.พ. และ 8 ส.ค. ของทุกปี
ทั้งนี้ หุ้นกู้ของวงษ์สยามฯ มีผู้จัดจำหน่าย 11 สถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)
บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)
ในด้านหุ้นกู้ EASTW แบ่งเป็นชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี มูลค่า 200 ล้าบาท ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2572 อัตราดอกเบี้ย 3.52% ต่อปี มูลค่า 600 ล้านบาท
ชุดที่ 3 อายุ 7 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2574 อัตราดอกเบี้ย 3.72% ต่อปี มูลค่า 100 ล้านบาท และชุดที่ 4 อายุ 10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2577 อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปี มูลค่า 1,300 ล้านบาท กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยให้ทาง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้จัดจำหน่าย และเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้