กกร.ชี้ เศรษฐกิจไทย ยังเปราะบาง หวั่นสินค้าจีนทำ SMEs กระอัก!

ประชุม กกร.
แถลงข่าว คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)


กกร.เผยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำลังซื้อในจีนชะลอลง สร้างความท้าทายส่งออกไทย เผย เศรษฐกิจไทย มีความเปราะบาง แม้รัฐจะเร่งใช้จ่ายงบประมาณ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง หวั่นสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ทุบผู้ประกอบการไทยอ่วม ชี้อาจถึงขั้นปิดกิจการ กระทบการจ้างงาน – เศรษฐกิจไทย

  • ชี้ล่าสุดจีน ส่งแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ขายสินค้าตรงจากโรงงาน กดราคาต่ำ ซ้ำเติม SMEs ไทยอีก
  • เสนอรัฐเข้มงวดการตรวจมาตรฐานสินค้านำเข้า ควบคุมสินค้าเสี่ยงภาษี บังคับใช้กฎหมายการค้าภายในอย่างเข้มข้น
  • แนะรัฐส่งเสริมสินค้าเมดอินไทยแลนด์ หนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์รองรับอีวี อย่างจริงจัง
  • พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 โต 2.2-2.7% ภาคการส่งออกเติบโต 0.8-1.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-1.0%

วันนี้ (7 ส.ค.67) นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วย นายเกรียงไกร เธียรนุกุลประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) และนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงข่าว คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยการนี้ นายผยง ศรีวณิช เป็นประธานในงาน เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือน ก.ค. ของประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างหดตัว

ทั้งนี้ กำลังซื้อในประเทศจีนยังชะลอตัว ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับตลาดแรงงานที่แผ่วลงกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า กระทบกับครึ่งปีหลัง ถือเป็นความท้าทายต่อการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งขยายตัวได้เพียง 2% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 (ม.ค.-มิ.ย.)

ขณะที่ภาวะตลาดการเงินโลก เกิดความผันผวน ทั้งเฟดที่ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงขึ้น สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยรวมทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

สินค้า-อีคอมเมิร์ซจีน ทะลัก กระทบเศรษฐกิจไทย

ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนลดลง ส่วนแบ่งตลาดส่งออกในอาเซียนของไทยลดลงในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจาก 12.7% ในไตรมาส 1 ปี 66 เหลือ 11.5% ในไตรมาส 1 ปี 67 และยานยนต์ลดลงจาก 20.9% ไตรมาส 1 ปี 66 เหลือ 18.7% ในไตรมาส 1 ปี 67

โดยเป็นผลจากที่จีน ได้ส่งออกสินค้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกของปี หดตัว 1.8% นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติม จากการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซของสินค้าจีนอีกด้วย

นายผยง กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบาง แม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ จะเริ่มนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทำให้การใช้จ่ายของรัฐ กลับมาขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่ากว่า15% ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวสะท้อนจากยอดโอนอสังหาฯ ช่วง 5 เดือน ปี 67 หดตัว -8.8% ยอดจำหน่ายรถยนต์ช่วง 6 เดือน ปี 67 หดตัวต่อเนื่องที่ -24%เทียบกับข่วงเดียวกันปีก่อน และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ แม้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว

“สำหรับปีนี้ ณ เดือน ส.ค. กกร. ประมาณการเศรษฐกิจปี 67 ยังยืนในอัตราเดิมคือ จีดีพีปีนี้ โตที่ 2.2-2.7% ภาคการส่งออกเติบโต 0.8-1.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-1.0%”

แนะรัฐออกมาตรการทางภาษี หนุนการลงทุนเมืองรอง

นายผยง กล่าวด้วยว่า จากการที่รัฐมีข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยมีการลงทุนน้อย มีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ต่ำกว่า 25% ลดลงจากที่เคยสูงเกือบ 30% ในขณะที่มีการออมในระดับสูง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องและมีเงินทุนไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นการเสียโอกาสในการนำเม็ดเงินมาลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตภายในประเทศ

โดยที่ประชุมกกร. เห็นตรงกับภาครัฐว่าประเทศไทย จำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทางภาษีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเมืองรอง และสนับสนุนการลงทุน โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนวิจัย และพัฒนาในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับเมกะเทรนด์ การลงทุนเพื่อรองรับสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ และกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ยังมีความน่ากังวล ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่รายงานโดยเครดิตบูโร ยังมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือน พ.ค.67 สูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เทียบกับปีก่อน สะท้อนถึงภาพการฟื้นตัวของรายได้ ที่ยังไม่ทั่วถึง

โดยที่ประชุม กกร. เห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐจะเร่งรัดผันเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยที่ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นการยกระดับกลุ่มฐานราก และภาคการผลิตที่กระทบ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และสร้างรายได้ให้กับกิจการและแรงงานตลอดซัพพลายเชน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ลูกหนี้ และภาคธุรกิจ เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้

นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. เห็นว่า การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปี เป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการกระตุ้นกิจกรรมก่อสร้างภาครัฐให้กลับคืนมา จะช่วยหนุนภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการจ้างงานให้ฟื้นตัวดีขึ้น เติมสภาพคล่องในระบบ หนุนกำลังซื้อที่อ่อนแอ

ด้านนายเกรียงไกร กล่าวว่า ขณะนี้ กกร. มีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 67 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.66%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

วอนรัฐเข้มตรวจมาตรฐานสินค้านำเข้า

ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศ โดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน สิ่งนี้ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลก ที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ที่ประชุมกกร. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี

โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น โดยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และซัพพลายเชนไทย มีความเข้มแข็ง และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน และส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน (Thai-Chinese Center for Business Sustainability (TCCBS)) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยและจีน ให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้งสองประเทศ และกติกาสากล

ในที่ประชุม กกร. ได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว แม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 67 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้น ในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า +86.31% เทียบกับปีก่อน หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น

“ตอนนี้ กกร.อยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ(Made in Thailand) เพื่อช่วยจัดสรรเม็ดเงินลงระบบในรายภาค การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อรองรับอีวี และเปลี่ยนแปลงไปยังธุรกิจใหม่ การส่งเสริม SMEs การบริหารจัดการของเสียของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ Industry 4.0” นายเกรียงไกร กล่าว

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กกร. ประเมินส่งออกไทยระยะสั้นดีขึ้น