จุลพันธ์ ยืนยันร้านค้า ที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต สบายใจได้ จะไม่มีการนำส่งข้อมูลทางภาษีโดยตรงให้กรมสรรพากรแต่อย่างใด ชี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของร้านค้า ที่จะได้ยอดขายที่เพิ่มขึ้น พร้อมเร่งชวนร้านค้าวิสาหกิจชุชมชน เข้ามาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเวลาเปิดลงทะเบียนร้านค้าร่วมดิจิทัล วอลเล็ต ได้ถูกต้องตามเกณฑ์
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า หลังจากเปิดให้มีการลงทะเบียนรับสิทธิ์ร่วมโครงการฯ ในกลุ่มประชาชนผู้มีสมาร์ทโฟน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.67 ที่ผ่านมา ก็มีปัญหาเกิดขึ้นบ้างในช่วงเริ่มต้นเปิดให้ลงทะเบียน ในเรื่องของความล่าช้าของระบบ รวมถึงปัญหาในเรื่องการต้องอัปเดตแอปพลิเคชัน ทางรัฐ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดก่อน
นอกจากนี้ ยังมีให้ส่วนการให้ข้อมูลผิดๆ สำหรับโครงการนี้ ที่แชร์ในโลกออนไลน์ ในเรื่องของความมั่นใจในระบบของโครงการนี้ โดยในเรื่องนี้ทางรับบาล ก็ได้มีการชี้แจงไปในหลายเวทีแล้ว รวมถึง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ก็ได้มีการออกคำชี้แจงมาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่ทางภาครัฐ ต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบข้อมูลต่อไป
ทั้งนี้ ยืนยันว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ไม่ติดในเรื่องข้อกฎหมายอย่างที่หลายฝ่ายเป็นห่วงแน่นอน โดยส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ โดยจะเร่งนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องประเด็นการลงทะเบียนของร้านค้า โดยตอนนี้มีร้านค้าจำพวกหนึ่ง เช่น วิสาหกิจชุมชน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐอย่างครบถ้วน โดยตอนนี้สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องทำคือ ต้องเร่งประสานงานกับร้านค้าเหล่านี้ ให้รีบมาดำเนินการในการขึ้นทะเบียนกับทางกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้มีความครบถ้วนเวลาลงทะเบียนร้านค้าร่วมดิจิทัล วอลเล็ต ก็ได้ไม่มีปัญหา
“ตอนนี้ที่ทราบมา ก็จะมีร้านค้าบ้างประเภท เช่น ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กของเอกชน ไม่ใช่รายใหญ่ ตอนแรกประเมินว่าจะมีร้านกลุ่มนี้เข้าร่วม 40,000 กว่าร้าน แต่ตอนนี้มีมาความประสงค์ร่วมโครงการฯแล้วกว่า 100,000 ร้านค้า ก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี”
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในเรื่องภาษีที่ร้านค้ามีความกังวล ว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีที่มากขึ้น หากเข้าร่วมโครงการ ก็ต้องบอกว่า ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของร้านค้า ที่ระบบเศรษฐกิจจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นโอกาสในการทำมาหากิน
“ขอยืนยันว่าโครงการของรัฐทั้งในอดีต และปัจจุบัน ไม่ได้มีการเชื่อมท่อตรงไปยังกรมสรรพากร เพื่อส่งรายละเอียดในด้านภาษีให้แต่อย่างใด โดยกระบวนการในเรื่องของภาษี หากมีการเตรียมการดี ก็ไม่มีเรื่องน่าห่วงสามารถจัดการได้ หากเทียบคือร้านค้าเดิมมียอดค้าขายได้ปีละ 1-2 แสนบาท และหากร่วมโครงการยอดขายขยับเป็น 1,800,000 บาท ก็ต้องถามตนเองว่าโอเคหรือไม่ ซึ่งหากร้านค้ามีความกังวลในเรื่องภาษี ก็อาจพลาดโอกาสในการค้าขายไปได้”
สำหรับในด้านระบบ ขณะนี้ทาง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนกรอบกำหนดไว้ ยังยืนยันในกรอบเวลาเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เพิ่มจุดบริการ ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเลต เป็นกว่า 6000 แห่ง