มะนาวพันธุ์ดี “กวก. พิจิตร 2” เมล็ดน้อย เปลือกบาง โตไว

กรมวิชาการเกษตร แจ้งเกิดมะนาวพันธุ์ดี “กวก. พิจิตร 2” เมล็ดน้อย เปลือกบาง โตไว ให้ผลผลิตเร็ว ตอบโจทย์โดนใจเกษตรกร

  • มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ได้รับเสียงตอบรับดีมาก
  • เมล็ดน้อย เปลือกบาง การเจริญเติบโตดี ผลผลิตสูง
  • ส่งเสริมให้แก่เกษตรกรนำไปใช้ปลูกสร้างรายได้

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ภายหลังจากที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ประสบความสำเร็จในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ “มะนาวพิจิตร 1” ให้มีความทนทานต่อโรคแคงเกอร์ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว เนื่องจากเชื้อสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม ใบร่วง ผลผลิตลดลง และไม่มีคุณภาพ ทำให้มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรทั่วประเทศดีมาก อย่างไรก็ตามแม้จะสามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคแคงเกอร์ให้เกษตรกรได้แต่เนื่องจากมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ยังมีจำนวนเมล็ดต่อผลมากโดยเฉลี่ย 29.4 เมล็ด  ดังนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงได้ปรับปรุงมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 โดยการเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยการฉายรังสีแบบแกมมา เพื่อให้มีเมล็ดน้อย เปลือกบาง การเจริญเติบโตดี ผลผลิตสูง เหมาะสมสำหรับการบริโภคและปลูกเป็นการค้าเพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

นางสาวมนัสชญา  สายพนัส  นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร นักวิจัยผู้ปรับปรุงพันธุ์  กล่าวว่า  ได้นำต้นมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 อายุ 3 เดือน หลังจากเสียบยอด ไปฉายรังสีแกมมาปริมาณรังสี 5 ระดับ จำนวนระดับละ 10 ต้น  หลังฉายรังสีนำไปปลูกลงแปลง ปล่อยให้กิ่งด้านล่างเจริญเติบโตประมาณ 5 ตา ใช้วิธีตัดแต่งกิ่ง ทำการตัดยอดกิ่งรุ่น M1V0 ปล่อยให้แตกกิ่งเพื่อเจริญเป็นรุ่น M1V1 (กิ่ง M1V1 คือกิ่งที่แตกมาจากกิ่งที่ฉายรังสี)  เมื่อกิ่ง M1V1 เจริญแตกตาใหม่ ประมาณ 5 ตา ตัดกิ่งเพื่อให้แตกกิ่ง เป็นรุ่น M1V2 โดยตัดกิ่งจนถึงรุ่น M1V3  จากนั้นปล่อยให้กิ่งมีการเจริญเติบโต เมื่อมะนาวให้ผลผลิตทำการติดป้ายชื่อ แถวที่ ต้นที่ กิ่งที่และ ระดับรังสีซึ่งมีจำนวนกิ่งที่ให้ผลผลิต 249 กิ่ง คัดเลือกเหลือ 121 สายต้น ทำการคัดเลือกซ้ำโดยคัดเลือกจากการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตแต่ละสายต้น ตามหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ จำนวนเมล็ดน้อยกว่า 15 เมล็ดต่อผล เปลือกบาง ให้ผลผลิตและคุณภาพดี จำนวน 24 สายต้น โดยดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ปี 2557-2561 ปลูกเปรียบเทียบ มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ที่ผ่านการฉายรังสี 24 สายต้น มีพันธุ์พิจิตร 1 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ

  ปี 2562-2564 ปลูกทดสอบ 4 สถานที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร  ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และแปลงเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี พบว่ามะนาวสายต้น PCT1-07-01-4 ที่ระดับรังสี 108 เกรย์ การเจริญเติบโตดี เมล็ดน้อย เปลือกบาง กว่าพันธุ์พิจิตร 1  จึงเสนอขอรับรองพันธุ์มะนาวสายต้น PCT1-07-01-4 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้จากการฉายรังสีแกมมาแล้วคัดเลือกลักษณะเด่นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นพันธุ์แนะนำโดยใช้ชื่อว่า “มะนาวพันธุ์กวก.พิจิตร 2” โดยผ่านการพิจารณารับรองพันธุ์ในเดือนสิงหาคม 2566  มีลักษณะเด่น เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 8 – 12 เดือน  จำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ย 1.97 เมล็ด น้อยกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ที่มีจำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ย 24.7 เมล็ด  ความหนาเปลือกเฉลี่ย 1.78 มิลลิเมตร น้อยกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ความหนาเปลือกเฉลี่ย 2.36 มิลลิเมตร และให้ผลผลิตดกเมื่ออายุต้น 3 ปีขึ้นไปเฉลี่ย 1,050 กิโลกรัมต่อไร่

“ศวพ.พิจิตรทำการปรับปรุงพันธุ์มะนาวพันธุ์พิจิตร 2 โดยการฉายรังสีให้มีเมล็ดน้อยและเปลือกบางลงในขณะที่ยังคงทนทานต่อโรคแคงเกอร์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและผู้บริโภคมะนาว  โดยใช้เวลาในการปรับปรุงพันธุ์ตามหลักวิชาการนานถึง 12 ปี  ภายหลังจากได้รับการรับรองพันธุ์แล้ว ศวพ.พิจิตร ได้นำกิ่งพันธุ์มะนาว กวก.พิจิตร 2 ออกแจกจ่ายให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อเพราะจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือจะนำไปปลูกบริโภคในครัวเรือนก็ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะปลูกง่ายเหมือนพันธุ์พิจิตร 1”