EXIM BANK เผยไม่ห่วงหนี้เสียปล่อยกู้ EA เผยตั้งสำรองไว้เชิงคุณภาพ

ปล่อยกู้
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)


นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยถึงกรณีที่ ธนาคารจะเข้าไปปล่อยกู้ ให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีปัญหาเรื่องการทุจริตในส่วนของผู้บริหาร อาทิเช่น บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และ ล่าสุดกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ว่า ถึงแม้จะเกิดเหตุขึ้นกับทั้ง 2 สองบริษัท แต่ทั้ง 2 บริษัทที่กล่าวมา ยังคงชำระหนี้การกู้ยืมให้แก่ธนาคารตามปกติ

นายรักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้เข้าไปปล่อยกู้ ในลักษณะปล่อยกู้โดยตรง และปล่อยกู้แบบร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ ให้แก่ทั้ง 2 บริษัทมาตั้งแต่ปี 2560 โดยในตอนนั้นทั้ง 2 บริษัท ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้คืนแต่อย่างใด โดยวงเงินที่ EXIN BANK ปล่อยกู้ให้แก่ เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ อยู่ที่ 895 ล้านบาท ส่วน วงเงินปล่อยกู้ให้ EA อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ตอนนี้ธนาคารได้ปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่  9 หรือ IFRS 9แล้ว อย่างกรณีของ EA ที่ต่อให้เป็นแค่ข่าว ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าจริงหรือไม่ เข้าเงื่อนไขเป็นอย่างที่ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษไปหรือไม่ ทางธนาคารก็ต้องตั้งสำรองเงินขึ้นมาทันที โดยในกรณีนี้ จะเป็นการตั้งสำรองในแบบเชิงคุณภาพ  โดยทาง EA ถือว่าไม่ได้เป็นหนี้เสีย แค่ในตอนนี้ถูกปรับลดในเรื่องของเครดิตเรทติ้ง ทำให้ประเมินแล้วมีความน่าเป็นห่วงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ต้องตั้งสำรองไว้ที่ 100%

 “ตอนนี้ธนาคาร ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ ของทั้ง 2 บริษัท โดย EXIM BANK ถือเป็นเจ้าหนี้ระดับกลาง ซึ่งตอนนี้ได้มีการเจรจา ถึงเรื่องแนวทางการชำระคืนหนี้กับทั้ง 2 บริษัท ไปบ้างแล้ว” นายรักษ์ กล่าว

นายรักษ์ กล่าวต่อว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น  ทางธนาคารก็คิดมาโดยตลอดว่า จะมีวิธีการใดที่จะนำมาช่วยใช้ในตรวจสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยกู้ ให้มีความเข้มข้นขึ้น ทำให้ได้ข้อมูลที่ครบรอบเชิงลึกขึ้น  โดยที่ผ่านมาธนาคารก็ยึดตามหลักการ การตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง ดูจากเครดิตเรทติ้งที่ดี  เพื่อนำมาพิจารณาการปล่อยกู้เงิน

“จากนี้ธนาคารต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น  ต้องมีเครื่องมือ ที่มาช่วยสืบค้นข้อมูลที่มากไปกว่าเดิม มากไปกว่าการที่จะเชื่อแค่รายงาน ที่ได้รับมา เครดิตที่เห็น หรือการไปประเมินดูว่าธุรกิจนั้นมีอยู่จริง เพียงเท่านั้น” นายรักษ์ กล่าว