“ออมสิน” ผนึก 16 แบงก์ คิกออฟ ซอฟท์โลน แสนล้าน อุ้มเอสเอ็มอี

ซอฟท์โลน
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up


“พิชัย” ตัดริบบิ้นโครงการ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up วงเงิน 100,000 ล้านบาท ชู ซอฟท์โลน ช่วยคืนชีพเอสเอ็มอีไทย เข้าถึงแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำ การันตี 2 ปีแรก ดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี ด้านวิทัย เผยโครงการ ซอฟท์โลน นี้ ออมสินใช้กำไรธนาคารเองมาดำเนินการ ตั้งเป้าช่วยเอสเอ็มอี เต็มกำลัง

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังร่วมงาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up วงเงิน 100,000 ล้านบาท สำหรับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ให้เติบโต สามารถก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคไปได้ โดยมีนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 16 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างเป็นขั้นตอน โดยช่วงแรกได้เข้าช่วยแก้ปัญหาในส่วนของหนี้เสีย ต่อมาก็เข้าสู่เรื่องการเติมเงิน เนื่องด้วยตอนนี้ มีผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มฟื้นตัว และมีความต้องการลงทุนในกิจการ แต่ติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อที่ยาก

ซอฟท์โลน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีตอนนี้ ทำให้ภาครัฐจึงต้องเข้าช่วย โดยการเติมสภาพคล่องผ่านการออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว

“เบื้องต้นทราบว่า ตอนนี้ธนาคารพาณิชย์ เอกชน และรัฐ ได้แสดงความสนใจ ที่จะขอใช้สินเชื่อซอฟท์โลนนี้ ของธนาคารออมสินแล้วประมาณ 70,000 – 80,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 100,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินเหล่านี้ จะเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีปัญหาอยู่ 2 ด้าน นั้นคือ 1.ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เดิม และ 2.ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ใหม่ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ทำให้ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหานี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีสัดส่วนราวๆ 35% ของจีดีพี และมีแรงงานประมาณ 70% ซึ่งถ้าได้รับการดูแลที่ดี ผู้ประกอบการเหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนประเทศแน่นอน

ซอฟท์โลน
โครงการ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up วงเงิน 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากถามว่าเม็ดเงิน 100,000 แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเท่าไหร่ ก็มั่นใจว่า ในส่วนนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในวงกว้างแน่นอน เพราะสินเชื่อที่ปล่อยให้เอสเอ็มอีไปนั้น จะเกิดการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียนในซับพลายเชน และเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจในภาคอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน100,000 ล้านบาท นี้ธนาคารออมสินคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ให้แก่สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่เข้าร่วมโครงการฯ

เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ ที่ไม่ใช่การรีไฟแนนซ์ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายรวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยเอสเอ็มอีสามารถยื่นขอสินเชื่อกับทางแบงก์ทั้ง 16 แห่ง ได้ถึง 31 ธ.ค.68

ทั้งนี้ เชื่อว่าวงเงินนี้ จะมีส่วนช่วยประคับประคองสภาพคล่อง ให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ พร้อมทั้งยังช่วยลดต้นทุนในด้านเงินกู้ด้วยอัตราเรทที่ 3.5% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเรทที่ต่ำมาก

“โครงการนี้ ธนาคารออมสินใช้ในส่วนกำไรของธนาคารเองมาดำเนินการ โดยไม่ได้มีการขอเงินชดเชยจากภาครัฐรวมถึงไม่ได้ใช้วงเงินจากมาตรา 28 ไม่ได้ขอวงเงินงบประมาณมาใช้แต่อย่างใด” นายวิทัย กล่าว

นายวิทัย กล่าวด้วยว่า หากถามว่าการปล่อยสินเชื่อนี้ จะทำให้ธนาคารออมสินขาดทุนหรือไม่ ก็ขอบอกว่า ธนาคารเองไม่ขาดทุน แต่จะเป็นการเสียโอกาสในธุรกิจ คือหากนำเงิน 100,000 ล้านบาท ไปปล่อยสินเชื่ออื่นๆ ได้กำไร 2.5% ต่อปี คิดง่ายๆ ได้กำไรปีละ 2,500 ล้านบาท แต่โครงการนี้ มองว่าจะช่วยเสริมสภาพคล่อง และลดต้นทุนให้เอสเอ็มอีได้ ถือว่าคุ้มค่า

ออมสิน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ สำหรับวิธีการการปล่อยกู้ จะเป็นในรูปแบบให้ทางธนาคารทั้ง 16 แห่ง ไปปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีโดยเวลาที่จะเบิกเงิน ทางธนาคารก็จะต้องรวบรวมยอดลูกค้าของธนาคาร ว่าคิดเป็นวงเงินขอสินเชื่อเท่าไร จากนั้นก็มาเบิกเงินกับทางธนาคารออมสิน เป็นงวดๆ ไป โดยจะเป็นรูปแบบธนาคารไหนมียอดสินเชื่อมาก่อน ก็จะไปรับจัดสรรเงินไปก่อน

ทั้งนี้ ทางธนาคารออมสิน ก็จะดำเนินการปล่อยสินเชื่อนี้เองด้วย โดยธนาคารก็ต้องเข้าคิว เพื่อเบิกเงินมาปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเช่นกัน ตัวอย่างกลุ่มเอสเอ็มอีที่ธนาคารมีข้อมูล ส่วนใหญ่มีความต้องการวงเงินที่รายละ 20-30 ล้านบาท

“คาดหวังว่า ธนาคารที่มาเข้าร่วมโครงการนี้ จะกำหนดเงื่อนไขที่ดีในเรื่องของดอกเบี้ย หาดผ่านพ้นในระยะ 2 ปี ที่กำหนดไว้ที่ 3.5% ต่อปี ก็อยากให้คิดในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อเป็นการช่วยเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง” นายวิทัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จะให้สิทธิ์กับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีรายเดิม และรายใหม่ ซึ่งจะเป็นการปล่อยสินเชื่อวงเงินใหม่ ไม่สามารถใช้เป็นการกู้เพื่อไปรีไฟแนนซ์สินเชื่อเดิม

โดยโครงการนี้ จะเป็นวงเงินที่เปิดให้เอสเอ็มอีในทุกประเภทธุรกิจ ขอสินเชื่อได้หมด ซึ่งก็จะต่างกับสินเชื่อที่ธนาคารออมสินทำเอง อาทิ เอสเอ็มอีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออมสินก็มีสินเชื่อดีโฮม ทำเรื่องเกี่ยวกับ Ignite Thailand จะเป็นกลุ่มท่องเที่ยว-บริการ

ธนาคารออมสิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “เผ่าภูมิ” แย้มรัฐจ่อ ออกมาตรการ ด้านสินเชื่อเพิ่มช่วงปลายปีนี้