สนค. ชง 8 แนวทาง แก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

สนค. ชู 8 แนวทาง ลุยแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 หลังธนาคารโลกชี้ไทยเสียหายทางเศรษฐกิจ 6% ของจีดีพี ลั่นภาครัฐเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตนี้

  • แนะรัฐ-เอกชนปรับเปลี่ยนภาคบริการสู่ธุรกิจรักษ์โลก
  • เน้นภาคขนส่งคน-สินค้าหันใช้พลังงานสะอาดแทนน้ำมัน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยในรายงานการติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยฉบับเดือนธ.ค.66 ของธนาคารโลกระบุว่า ไทยมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือคิดเป็นความเสียหาย 1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบจากจีดีพีปัจจุบันที่ 17.98 ล้านล้านบาท โดยเป็นผลกระทบของวิกฤติฝุ่นควัน พีเอ็ม2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน และได้ให้คำแนะนำว่า ไทยควรใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ สนค.มองว่า ภาครัฐและเอกชนไทยควรให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนภาคบริการไปสู่ธุรกิจบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นที่การใช้มาตรการเชิงส่งเสริมสนับสนุน เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าและบริการที่ปลดปล่อยฝุ่นควันลดลง โดยให้กระทบต่อภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ประกอบด้วย 8 แนวทาง ได้แก่ 1. สนับสนุนธุรกิจในสาขากิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ ให้เกิดการวิจัยและพัฒนาให้ได้เทคโนโลยีทดแทนการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดผลกำไรสูงขึ้น

2. สนับสนุนธุรกิจในสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร ให้ใช้ยานยนต์พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฟฟ้า และไฮโดรเจน 3.สนับสนุนธุรกิจในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ให้มีระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ 4. สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการข้อมูลลดฝุ่นและคาร์บอน 5. สนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อลดการปล่อยฝุ่น

6.สนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการบริการและด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน 7. สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้จัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น เช่น การจ้างบริการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ 8. ดำเนินนโยบายร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ธุรกิจบริการมีบทบาทสำคัญอย่างมาก อาทิ สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึงกว่า 819,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 40,200 ราย มีการจ้างงานกว่า 649,000 คน หากปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานจะช่วยลดฝุ่นได้ โดยมีภาครัฐเป็นอีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตนี้ ผ่านการสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนในการปรับตัวอย่างเหมาะสม