พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

“สุรเชษฐ” เชื่อมาตรการ ลดค่าโอน-จดจำนองเหลือร้อยละ 0.01 บ้านไม่เกิน 7 ล้านบาท ประโยชน์ทั้ง “ผู้ซื้อ” และ “ผู้ขาย” กระตุ้นเศรษฐกิจแน่

  • ตลาดที่อยู่อาศัย เป็อีกหนึ่งเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • มีสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ประเทศ
  • เกาะติดเช่าที่ดินของชาวต่างชาติ

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ  เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์   เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยไม่ว่าจะเป็น ภาคการผลิต วัสดุก่อสร้าง การจ้างงาน เป็นต้น 

ดังนั้นตลาดที่อยู่อาศัยจึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญซึ่งมีสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ประเทศ กล่าวคือ ถ้าอสังหาริมทรัพย์หรือ ตลาดที่อยู่อาศัยสามารถขับเคลื่อนไปได้ จะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเงินได้อย่างเต็มระบบและจำนวนมาก นั่นเท่ากับว่าในทุกหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะขยายตัวเกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบของประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล

ส่วนกรณีเพดานราคาเป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ดีต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มนี้ มาตรการนี้เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของคนซื้อที่อยู่อาศัย เพราะค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์บ้านหรือคอนโดมิเนียมจะลดลงมาก นอกจากนี้การที่รัฐบาลมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านเอง ยิ่งส่งผลดีในวงกว้างมากขึ้นด้วยเพราะจะช่วยกระตุ้นไปถึงภาคธุรกิจการก่อสร้าง รวมไปถึงวัสดุก่อสร้างที่จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ

“สุดท้ายแล้วมาตรการใดๆ ที่ออกมา ไม่ว่าจะทั้งจากภาครัฐ สถาบันการเงิน หรือเอกชนต่างๆ จะสามารถช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน และให้ความสำคัญกับภาพรวมประเทศ”

 นายสุรเชษฐ ยังกล่าวย้ำ พร้อมกับกล่าวให้ความเห็นในตอนท้ายว่า ต้องจับตาดูนโยบายการเช่าที่ดินของชาวต่างชาติว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะมีการขยายเวลาของการเช่าที่ดินของชาวต่างชาติให้ยาวนานถึง 99 ปี หรือไม่อย่างไร? ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ส่วนผู้ที่เห็นด้วยก็มองว่าการขยายเวลาให้นานขึ้นเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างเม็ดเงินการหมุนเวียนในตลาดอสังหาริมทรัพย์