“ลวรณ”​ ปลัดคลัง ร่วมแถลงแก้หนี้ทั้งระบบไปได้แล้วมากกว่า 1.8 ล้านราย

“ลวรณ”​ ปลัดคลัง ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าแก้หนี้ทั้งระบบไปได้แล้วมากกว่า 1.8 ล้านราย มูลหนี้มากกว่า 400,000 ล้านบาท

  • ขอความร่วมมือสถาบันการเงินรัฐ
  • เร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ
  • ต้องให้ความรู้ด้านการเงินทุกช่วงวัย

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง   กล่าวแถลงข่าว การแก้ไขปัญหานี้ทั้งระบบ ว่า  กระทรวงการคลังรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหานี้นอกระบบนั้น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีหลากหลายโครงการช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้ช่วยเหลือไปแล้ว 90,000 ราย วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท  ขณะเดียวกันมีโครงการฝึกอาชีพควบคู่ไปกับการให้สินเชื่อ เพื่อให้ลูกหนี้มีรายได้ จะไม่กลับมาเป็นหนี้นอกระบบอีก 

ทั้งจากการการแก้หนี้ในระบบ แบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. ลูกหนี้ที่ได้รับการผลกระทบจากโควิด-19 หรือรหัส 21 นั้น  ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย ได้ธนาคารออมสินช่วยเหลือปิดบัญชีหนี้เสียไปมากกว่า 630,000 บัญชี มูลหนี้มากกว่า 40,000 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้ของธ.ก.ส อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะปิดบัญชีได้ภายในเดือนก.พ.นี้ อีก 300,000ราย  ขณะที่ลูกหนี้เอสเอ็มอี สถาบันการเงินของรัฐ ได้ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย และช่วยเหลือแล้วมากกว่า 10,000 บัญชี มูลหนี้รวมกว่า 5,000 ล้านบาท 

“ขอความร่วมมือต่อไป ต้องให้สถาบันการเงินของรัฐ เร่งประชาสัมพันธ์ให้เอสเอ็มอี เร่งเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ เพราะจะได้สิทธิลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ ขอความร่วมมือเอสเอ็มอี มาเข้าร่วมโครงการของธนาคารด้วย”

กลุ่มที่ 2 ส่วนลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ ซึ่งมีหนี้มากกว่า รายได้นั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ,ครู ,ตำรวจ,ทหาร  เบื้องต้นได้ขอให้สหกรณ์ต่างๆ เจ้าหนี้หลัก ได้ลดดอกเบี้ยลง เมื่อลดลงแล้ว ได้ขอให้ธนาคารออมสิน ช่วยรีไฟแนนซ์จากหนี้หลายๆแห่ง มาร่วมไว้ที่เดียว จะได้ช่วยลดภาระ ดอกเบี้ยลดลง   ธนาคารออมสิน อยู่ระหว่างเจรจาหน่วยงานภาครัฐ เพื่อออกผลิตภัณฑ์และจัดทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ​ 

กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ขณะนี้ได้เข้าพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี  ให้เกษตรกรมากกว่า 1.8 ล้านราย มูลหนี้มากกว่า 250,000 ล้านบาท  ลูกหนี้ กยศ.หลังจากกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ มีทั้งลดต้น ลดดอกเบี้ย ค่าปรับ และการค้ำประกัน ลูกหนี้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ 3.5 ล้านราย รวมมูลหนี้ 400,000 ล้านบาท  ขณะนี้กยศ.ได้ดำเนินการไปแล้ว 600,000 ราย  

กลุ่มที่ 4 ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างมาเป็นระยะเวลานานนั้น จะมีการจัดตั้งกิจการร่วมทุนบริษัทบริหารสินทรัพย์ (JV AMC) มาดูแล มีการโอนหนี้มาจากสถาบันการเงิน มาไว้ที่ JV AMC โดยความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าว คาดว่าไตรมาสแรกของปีนี้ จะจัดตั้งJV AMC เสร็จสิ้น และจะโอนหนี้มาบริหารจัดการ มีเงื่อนไขผ่อนปรนที่เป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้  โดยอยู่ระหว่างรอประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​  

“ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่หากต้องการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน คงต้องให้ความรู้ด้านการเงินทุกช่วงวัย สร้างวินัยทางการเงิน  การยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีให้มีการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และที่สำคัญต้องดูแลให้สถาบันการเงิน ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม  ปัญหาหนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นรื้อรังมานาน  การแก้ไข คงไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่ด้วยความตั้งใจของทุกหน่วยงาน ของรัฐบาล เชื่อว่าความร่วมมือต่างๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว ลูกหนี้มีช่องทาง ในการบริหารจัดการแก้ไขหนี้ หลายช่องทาง ขอให้แสดงความสมัครใจเข้าร่วมโครงการของรัฐ​ บริหารงานเงินของตัวเอง มีความสามารถในการชำระหนี้ตามศักยภาพของตัวเองให้ได้”