“พิชัย” ลุยเต็มสูบ! หวังดัน จีดีพีปีนี้ โตแตะใกล้ 3%

จีดีพีปีนี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา Investment Forum 2024 เจาะขุมทรัพย์ลงทุน...ยุคโลกเดือด หัวข้อเรื่อง Thailand Investment Opportunity

พิชัย รมว.คลัง เผยรัฐบาลพร้อมดัน จีดีพีปีนี้ โตแตะ 3% เผยหากต้องการดูแลสัดส่วนหนี้สาธารณะ จะเลือกใช้วิธีขยาย ทำให้เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้ จีดีพีปีนี้ ขยับโตไปด้วย

  • ชี้เวลานี้ เรื่องกำลังการผลิตลดลงเริ่มมีปัญหา เกิดหนี้เสียในภาคประชาชน ภาครัฐต้องเข้าไปช่วย
  • เผยพร้อมเร่งช่วยประชาชนรายย่อย เอสเอ็มอร ให้เข้าถึงสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยต่ำ
  • แย้มจากนี้ยังมีแผน ดูแลประชาชนต่อในเรื่องบ้าน และสินเชื่อรถยนต์

วันนี้ (27 มิ.ย.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนาInvestment Forum 2024 เจาะขุมทรัพย์ลงทุน…ยุคโลกเดือด  หัวข้อเรื่อง Thailand Investment Opportunity จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า เวลานี้แนวโน้มการเติบโต ของเศรษฐกิจไทย ลดลงเป็นแบบขันบันได โดยในปี 2523 เป็นต้นไป ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตโชติช่วงชัชวาล โดยมีการขยายตัวได้ถึง 7-9% โดยบางปี ยังขยายตัวด้วยเลข 2 หลัก จากน้้นก็มาสะดุด ในช่วงต้มยำกุ้ง คือ ปี 2540 

ทั้งนี้ ขอแบ่งจีดีพีไทย เป็นช่วงๆ ในทุกๆ 5 ปี โดยย้อนหลังไป จาก 5 ปีแรก อัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.8% ส่วน 5 ปีถัดมา ลดลงเหลือ 3.5% ขณะที่ 5 ปีต่อมา การเติบโตเศรษฐกิจ เหลือเพียง 3% และ 5 ปีสุดท้าย ซึ่งเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การเติบโตเหลือเฉลี่ย 0.4% 

โดยหลังจากฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยก็ ฟื้นกลับมาขยายตัวเพียง 1.9% ส่วนไตรมาสแรกของปี 2567 นี้ ก็เติบโต ที่ 1.5% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจเจาขยายตัวได้ 5%

รัฐบาลลุยเต็มที่ ตั้งเป้าดันจีดีพีโตแตะ 3%

ทั้งนี้ จากการประมาณการณ์ของสภาพัฒน์ ที่ว่า ในปี 2567 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.4-2.5% แต่มองว่า หลังจากฟื้นไข้จากโควิด-19 ศักยภาพของประเทศไทย ควรจะขยายตัวได้ 3.5% 

“รัฐบาล จะพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจปี 2567 ขยับเติบโตไปใกล้แตะระดับ 3% ให้ได้ และอยู่ในระดับ 3% ในปีถัดไปด้วย” 

นายพิชัย กล่าวต่อว่า วันนี้มองว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และทำให้มีการบริโภค ขณะเดียวกัน ก็มาจากการลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยว มาวันนี้ภาคการส่งออกไม่เหมือนเดิม ซึ่งระดับลดลง จากสัดส่วน70% ส่วนภาคการผลิต ก็ลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการส่งออก และบริโภคน้อย การผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย 

ขณะที่ ประชาชนรายย่อย ในเวลานี้ ต้องเผชิญกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่สูง อยู่ที่ระดับ 91% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมูลค่าอยู่ที่ 19 ล้านล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยได้ว่า โดยรวมประชาชนไทยมีหนี้รวมกว่า 17 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าบริโภค และค่าบัตรเครดิต เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อมีหนี้ แล้วใช้หนี้ ก็ไม่มีกำลังบริโภค จึงส่งต่อมาสู่กำลังการผลิต 

ทั้งนี้ ในเรื่องกำลังการผลิตลดลงเริ่มมีปัญหา เกิดหนี้เสียของประชาชน จากสถาบันการเงินต่างๆ ภาครัฐก็เข้าไปช่วยเหลือ ส่งผลให้หนี้ภาครัฐ เพิ่มขึ้นสูงด้วย 

โดยหากย้อนไป 8-9 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 50% ต่อจีดีพี หรือ 5 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันหนี้สาธารณะ ขยับมาอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท และกำลังจะเพิ่มเป็น 12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 63% ต่อจีดีพี แต่รัฐบาลจะพยายาม ให้อยู่ในกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ที่ไม่เกิน 70%

“หากต้องการดูแลสัดส่วนหนี้สาธารณะ รัฐบาลต้องหาเงินมาใช้หนี้ แต่เป็นเรื่องที่ยาก เพราะสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ก็ต้องเพิ่มขึ้น อีกหนึ่งทางเลือก คือการขยายให้เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งก็มองว่าควรใช้ทางเลือกนี้ คือทำให้เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น สู้กับชาวโลก และทำให้สามารถแข่งขันได้ แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาทางด้านโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สูงวัย ฉะนั้น ต้องมีการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะต้องดูแลในระยะสั้น คือ การช่วยให้ประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อ และแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งขณะนี้ คนที่ไม่มีเงินประสบปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังสูงอยู่

“ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการใช้แบงก์รัฐ เข้ามาช่วย โดยเร็วๆ นี้ จะดำเนินการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน 100,000 ล้านบาท เพื่อไปปล่อยต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 3.5% ส่วนที่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% เป็นต้น”

นอกจากนี้ จะเข้าไปดูผู้ที่เป็นหนี้เสีย มูลหนี้หลัก โดยรวมอยู่ที่รายละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งอยู่ในประวัติเครดิตบูโรโดยในช่วงปลายปีนี้ จะมีลูกหนี้หลุดมาจำนวน 2 ล้านคน โดยรัฐบาลจะเข้าไปดูแล คาดใช้งบประมาณวงเงิน 7,000 ล้านบาท ในการดูแลลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีแผนจะให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดูแลเรื่องการค้ำประกันสินเชื่ออีกช่องทางหนึ่ง ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท ส่วนระยะต่อไป 

นอกจากนี้ ในระยะต่อไป จะมีการดูแลต่อในเรื่องบ้าน และสินเชื่อรถยนต์อีกด้วย ขณะที่การแก้ปัญหาระยะยาว เป็นเรื่องที่รัฐบาล จะต้องดูแลต่อ ยอมรับว่า อาจจะมีผลต่อหนี้สาธารณะ แต่จะไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี แน่นอน

“พิชัย” ลั่นการมีหนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว

ทั้งนี้ นายพิชัย ยังเปิดเผยภายหลัง การร่วมงานปาฐกถาพิเศษ : Thailand Investment Opportunity ภายในงาน INVESTMENT FORUM 2024 ด้วยว่า ในเรื่องเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ต้องขึ้นอยู่สิ่งแวดล้อม และสถานะของสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศ ณ เวลานั้น

ทั้งนี้ ในกรณีที่ประเทศมีแผนการลงทุนที่ดี และมีความเชื่อมั่นว่า สามารถนำหนี้ที่สร้าง ไปส่งเสริมให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้ ซึ่งการที่ลงทุนในสิ่งเหล่านี้ และสามารถใช้ประโยชน์จากหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ก็จะไม่มีความน่ากลัวอะไร

“ปัจจุบัน นโยบายเพดานการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล ก็ยังคงนโยบายไว้ที่ 70% ของจีดีพี ซึ่งเวลานี้ ก็ยังมิงไม่เห็นว่า จะต้องตัังขยายให้มากกว่า 70% ไปด้วยเหตุผลอะไรในเวลานี้”

นายพิชัย กล่าวต่อว่า หากจีดีพีประเทศไทย อยู่ในบริบทที่มีการเติบโตต่อเนื่องที่ 5% ต่อปี การขยับเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ก็จะไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวลอะไร

“อยากให้มองว่า การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หากเรามีการวางแผนการลงทุนที่ดี มีประสิทธิภาพ”

กระทรวงการคลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลัง-ก.ล.ต.-ตลท. ร่วมพลังปรับเงื่อนไข กองทุน ThaiESG