“จุลพันธ์” ลั่นต้นเดือน ม.ค. 67 กฤษฎีกาส่งคำตอบแจกเงินดิจิทัล

“จุลพันธ์” เผยต้นเดือน ม.ค. 67 รู้เรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัลไปต่อหรือพอแค่นี้ รอกฤษฎีกาส่งคำตอบ ลั่นเป็นหน้าที่ของคลัง และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

  • เชื่อมั่นรัฐบาลจะได้ดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทอย่างแน่นอน
  • เผยหลายคนเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจประเทศไม่ดี การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็น
  • ลั่นอย่ากังวลเรื่องหนี้สาธารณะ ชี้หากเศรษฐกิจโต มูลค่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะก็ต้องลดลง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากการสอบถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการพิจารณาข้อกฎหมายโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ล้าสุดทางเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่า เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 คาดว่า จะพิจารณา 2 สัปดาห์ และจะส่งหนังสือให้กระทรวงการคลังได้รับทราบภายในเดือน ม.ค.67 จากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณารายละเอียดคำตอบของกฤษฎีกา

“คำถามของกระทรวงคลัง จะเป็นประเด็นข้อกฎหมายว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าได้หรือไม่ได้ ขัดข้อกฎหมายหรือไม่ หากคำตอบกฤษฎีกา บอกว่าเดินหน้าต่อได้ กระทรวงการคลัง จะเร่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะได้ดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทอย่างแน่นอน และเป็นไปตามกรอบเวลาไม่เกิน พ.ค.67” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อด้วยว่า เศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤตนั้น ทางกระทรวงการคลังไม่ได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจ

“ขณะนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจประเทศไม่ดี ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจึงมีความจำเป็น ส่วนประเด็นข้อกังวลเรื่องหนี้สาธารณะ จุดนี้ไม่อยากให้กังวล เพราะหากเศรษฐกิจโต มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)​ เพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะก็ต้องลดลงด้วย โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ของจีดีพี และเมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้ ก็จะช่วยดันจีดีพีในช่วง 4 ปี (67-70) เติบโตเฉลี่ย 5% และหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60%”