ธ.ก.ส. ติดตามมาตรการพักชำระหนี้พื้นที่ จ.เชียงราย

“จุลพันธ์ – ธ.ก.ส.” ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ติดตามการดำเนินงานการรับเกษตรกรเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ พร้อมเยี่ยมชมชุมชนต้นแบบการฟื้นฟูอาชีพ

  • เผยปัจจุบันมีลูกค้า ธ.ก.ส. แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 1.6 ล้านคน ยอดหนี้ทั้งหมด 2.2 แสนล้าน
  • พื้นที่เชียงรายมีเกษตรกรร่วมมาตรการกว่า 53,000 ราย จำนวนหนี้ 5,750 ล้านบาท
  • พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานชุมชนบ้านหนองหมด ชุมชนอุดมสุขดีเด่นระดับฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง นายณรงค์ ขัยติวิริยะกุล นายยุวพล วัตถุ รองผู้จัดการธ.ก.ส. นายโกเมนทร์ โคตรศรีวงศ์ นายเกียรติศักดิ์ พระวร ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการรับเกษตรกรเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้ารายย่อยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้แก่ อำเภอพาน อำเภอป่าแดด อำเภอแม่จัน อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอเทิง

โดย ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการสำหรับลูกค้าที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งสถานะหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 กันยายน 2566 ผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ถึง 31 ม.ค. 2567 โดยปัจจุบันมีลูกค้า ธ.ก.ส. แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 1.6 ล้านคน ยอดหนี้ทั้งหมดจำนวน 220,000 ล้านบาท ทั่วประเทศ โดยได้ตรวจเยี่ยมและติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การตรวจสุขภาพหนี้ การทำเอกสารข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักชำระหนี้และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว จำนวนกว่า 53,000 ราย และมีผู้แจ้งความประสงค์ผ่าน แอปพลิเคชัน BAAC Mobile แล้วกว่า 45,000 ราย จำนวนหนี้ 5,750 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธ.ค.66) โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่และเกษตรกรลูกค้าให้การต้อนรับ ระหว่างวันที่16 – 17 ธ.ค. 2566

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของชุมชนบ้านหนองหมด ชุมชนอุดมสุขดีเด่นระดับฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน และเป็นหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2566 ที่มีความโดดเด่นเรื่องการบริหารจัดการเชื่อมโยงอาชีพในชุมชน สร้างอาชีพให้คนในชุมชนให้มีรายได้อย่างยั่งยืน

อีกทั้งเป็นชุมชนที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในครัวเรือน โดยมีฐานเรียนรู้เพื่อรองรับโครงการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพลูกค้าที่พักชำระหนี้ ได้แก่ ฐานที่ 1 ฐานเรียนรู้อาชีพเดิม (การผลิตข้าว) โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนใช้สารชีวภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตร และการแปรรูปข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ฐานที่ 2 การเลี้ยงปลานิล โดยสนับสนุนเกษตรกรผลิตอาหารปลา ด้วยการเลี้ยงแหนแดงและผลำเป็นอาหารเสริมเพิ่มโปรตีนให้กับปลาและลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิตให้กับเกษตรกร ฐานที่ 3 ฐานทำไข่เค็มใบเตยจำหน่ายไปยังตลาด เพื่อสร้างอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. บ้านโป่งศรีนคร เป็นศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ (Zero Waste) ซึ่งมีการเปิดอบรมฟื้นฟูศักยภาพลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ ได้แก่การส่งเสริมการฝึกอาชีพเสริมด้านการจักรสาน และการผลิตพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้า และการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ผลผลิตกาแฟจาก 9 ดอย

นอกจากนั้น ยังเดินทางไปเยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปะร่วมสมัย บ้านสันป่าเหียง ที่ก่อตั้งโดยนักเรียนชาวนาของศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันที่รวมกลุ่มกัน เพื่อส่งเสริมอาชีพที่ได้มาจากการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนา อาทิ การพิมพ์ผ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติ (Eco Print) การนวดแผนไทยและอบสมุนไพร การจักรสาน การทำอาหารพื้นบ้านและที่พักโฮมเสตย์ และกลุ่มธนาคารขยะทอง อันนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในระหว่างพักหนี้ และสามารถยืนได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคงหลังจบมาตรการพักหนี้