ออมสิน ผนึก BAM ผุดบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ ช่วยแก้หนี้

บริหารสินทรัพย์อารีย์ ออมสิน บสก.
ออมสิน ผนึก BAM ร่วมทุน 1,000 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ประเดิม รับซื้อและโอนหนี้เสียลูกหนี้ออมสิน ไตรมาส 3 ปี 67

ออมสิน ผนึก BAM ร่วมทุน 1,000 ล้าน ตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ลุยประเดิมรับซื้อ-โอนหนี้เสียลูกหนี้ออมสิน ไตรมาส 3 ปีนี้ ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้กว่า 500,000 บัญชี คิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท เผย บริหารสินทรัพย์อารีย์ จ่อรับโอนหนี้แบงก์รัฐอื่นภายในปี 68

  • เผย บ.บริหารสินทรัพย์อารีย์ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีกำไรในระดับที่เหมาะสม
  • เน้นช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งที่เป็น NPLs และ NPA ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ หรือไกล่เกลี่ยหนี้ ทำให้กลับมาเป็นสถานะหนี้ผ่อนปกติ
  • เผยปลาย ก.ค.นี้ จะโอนหนี้เข้ามา 1.4 แสนบัญชี วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยจากการโอนหนี้ดังกล่าว จะไม่ได้มีผลทำให้ NPL ออมสินลดลงมากนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 พ.ค.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ร่วมเป็นประธาน และสักขีพยาน ในพิธีลงนามการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล ระหว่างธนาคารออมสิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM โดยมี นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ลงนามการร่วมทุนในครั้ง

ทั้งนี้ ภายในงาน นายพิชัย ได้กล่าวเปิดงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมถึงต้นทุนทางดอกเบี้ย ที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเป็นจำนวนมาก ขาดสภาพคล่อง และหมดความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ (NPL) ขึ้น

อีกทั้งลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว  ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารได้ ด้วยเหตุเพราะติดเครดิตบูโร มีประวัติทางการเงินที่ไม่ดี ทั้งนี้ ทางรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่มีภาระหนี้ไม่มาก แต่ยังค้างชำระหนี้อยู่

บริหารสินทรัพย์อารีย์ ออมสิน
พิธีลงนามการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล

ผุดบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ ช่วยลูกหนี้

โดยล่าสุดวันนี้ ได้จัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC โดยเป็นธุรกิจบริหารสินทรัพย์รูปแบบกิจการร่วมทุน ระหว่างธนาคารออมสิน  และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM โดยร่วมทุนที่ 50% เท่ากัน มีทุนจดทะเบียนที่ 1,000 ล้านบาท หรือลงทุนฝ่ายละ 500 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งที่เป็น NPL และ NPA ได้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ หรือไกล่เกลี่ยหนี้ ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้มีโอกาสหลุดพ้น จากการมรประวัติทางเครดิตบูโร 

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า จากปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศ เป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และประชาชนจำนวนมาก ขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้ จนกลายเป็นหนี้เสีย

จากเหตุนี้ ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว  ได้ประกาศเป็นนโยบายแก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสิน จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ในรูปแบบกิจการร่วมทุน (Joint Venture Asset Management Company : JV AMC) เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ

โดยเพิ่มความคล่องตัว ให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถโอนหนี้บางส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไปยังบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหนี้โดยเฉพาะ ทำให้ธนาคารออมสิน จึงได้ร่วมกับ BAM จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ขึ้นมา

“วัตถุประสงค์หลักของบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ คือเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีกำไรในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งที่เป็น NPLs และ NPA ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ หรือไกล่เกลี่ยหนี้ ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ กลับมาเป็นสถานะหนี้ผ่อนปกติ หรือหนี้ปิดบัญชี ทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในอนาคต และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมให้มีเสถียรภาพ ช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน” นายวิทัย กล่าว

ตั้งเป้าช่วย 500,000 บัญชี มูลหนี้เงินต้นกว่า 4.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ ในระยะแรกจะรับซื้อ และรับโอนหนี้ จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน เป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไป ทั้งที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับ สอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะมีความยืดหยุ่น และหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือตัดหนี้บางส่วนให้ เป็นต้น

คาดว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปี 67 จะสามารถเริ่มรับซื้อ และรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน โดยจะมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 500,000 บัญชี คิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท โดยในอนาคตจะขยายการดำเนินการรับซื้อหนี้ประเภทอื่น รวมถึงหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรายอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ในระยะแรก หรือประมาณปลายเดือน ก.ค.นี้ คาดจะโอนหนี้เข้ามา 1.4 แสนบัญชี วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยจากการโอนหนี้ดังกล่าว  จะไม่ได้มีผลทำให้ NPL ของออมสินลดลงมากนัก เนื่องด้วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกหนี้รายเล็ก

ออมสิน บริหารสินทรัพย์อารีย์
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ประเด็นออมสิน ผนึก BAM จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า BAM ดำรงบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน และบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา จนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้ได้ข้อยุติมากกว่า 155,000 ราย คิดเป็นภาระหนี้กว่า 480,000 ล้านบาท และยังสามารถจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายไปกว่า 52,000 รายการ คิดเป็นราคาประเมินกว่า 122,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาบริหารจัดการนั้น BAM ตระหนักดีว่า ยังมีแนวทางอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา NPLs และ NPA ได้ ซึ่งก็เป็นที่มาของความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในครั้งนี้

นายบัณฑิต กล่าวด้วยว่า BAM พร้อมให้การสนับสนุนบริษัทร่วมทุน โดยให้บริการเกี่ยวกับการรับบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่บริษัทร่วมทุนจะรับซื้อ หรือรับโอนจากธนาคารออมสิน ตลอดจนการให้บริการ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุน

“ทั้ง 2 องค์กร มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการสานต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน โดยจะร่วมกันวางแผนบริหารกิจการร่วมทุน วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ มุ่งมั่นช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริต ให้ผ่านพ้นปัญหาหนี้สินไปได้ ส่งผลให้หนี้เสียได้รับการแก้ไข ให้กลายเป็นหนี้ดี” นายบัณฑิต กล่าว

ธนาคารออมสิน

ข่าวที่เกี่ยวข่าว : “ออมสิน” ขานรับนโยบายรัฐ ช่วยแก้หนี้“ครู-ตำรวจ-ทหาร”