“เผ่าภูมิ” มอบนโยบาย สศค. คิดนอกกรอบ ดันแบงก์รัฐอุดช่องว่างการเงิน

เผ่าภูมิ กระทรวงการคลัง
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม มอบนโยบายให้สำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง (สศค.)

“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ลุยมอบนโยบายสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง (สศค.) เน้นกาคิดนอกกรอบเปรียบ สศค. คือมันสมองด้านนโยบายการคลังของประเทศ เผ่าภูมิ ย้ำต้องเป็นหน่วยงานทันต่อการปรับตัว สามารถเชื่อมโยงกับประชาชนได้ อย่าบริหารแบบอยู่บนหอคอยงาช้าง พร้อมมอบการบ้านหน่วยงานกองต่างๆ ปรับรูปแบบการทำงาน

  • มอบกองนโยบายการเงิน ดันธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อุดช่องว่างทาง ตอบสนองความต้องการประชาชนเข้าถึงแหล่งเงิน
  • ย้ำ คลัง-ธปท. ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความละมุนละม่อม ต้องทำงานร่วมกันให้ได้ เพื่อเติมเต็มนโยบายการเงิน-การคลัง
  • เผยเร็วๆ นี้ จ่อดันสินเชื่อเมืองรอง และมาตรการ IGNITE THAILAND เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันนี้ (15 พ.ค.67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม มอบนโยบายให้สำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง (สศค.) โดยได้พูดคุยถึงทิศทางการทำงานจากนี้ โดย สศค. ถือเป็นหน่วยงานด้านมันสมองทางด้านนโยบายการคลังของประเทศ เป็นหน่วยงานที่กำหนดทิศทาง ของนโยบายการคลังของประเทศชาติ

นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่กล่าวย้ำในที่ประชุมคือ เรื่องของ “ทัศนคติ” ในเรื่องการให้คิดนอกกรอบ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญของ สศค. โดยเป็นเรื่องปกติ ที่ประเทศชาติ ต้องมีกรอบข้อกำหนดในการพัฒนาอยู่แล้ว โดยหาก สศค. จะคิดเรื่องอะไร แล้วเอาในเรื่องกรอบข้อจำกัดเป็นที่ตั้ง หากไม่กล้าคิกนอกกรอบ มันก็จะทำให้แนวทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ขยับเดินไปในทางไหนได้ จะย่ำอยู่กับที่

“การบ้านที่ให้ สศค.วันนี้ จึงให้แนวคิดที่ว่า สศค. ควรจะมีการคิดที่นอกกรอบ และหากกรอบอะไรที่เป็นอุปสรรค ก็ให้แก้ข้อกฎหมายให้ถูกต้องต่อไป นี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานประเภทกำหนดทิศทางนโยบายควรจะคิดนอกกรอบให้ได้”

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า จากนี้ไป สศค. ต้องเป็นหน่วยงานที่เป็นมันสมองที่กล้าคิดนอกกรอบ ต้องเป็นมันสมองที่ต้องทันต่อการปรับตัวให้ทันต่อยุคต่อสมัย นโยบายที่เคยทันสมัยในอดีต ปัจจุบันก็อาจจะไม่ทันสมัยแล้ว ก็ต้องมีการปรับตัวในเชิงนโยบายต่อไป รวมถึงต้องเป็นมันสมองที่สามารถเชื่อมโยงกับประชาชนให้ได้ ต้องไม่เป็นหน่วยงานที่บริหารแบบอยู่บนหอคอยงาช้าง ต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถสัมผัสถึงความทุกข์ร้อนของประชาชนได้

ทั้งนี้ ได้สนับสนุนให้ หน่วยงาน สศค ควรลงไปในพื้นที่ เพื่อได้ทราบปัญหาที่ประชาชน ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ อีกทั้งยังมองว่า สศค. ยังควรเป็นหน่วยงานที่มีความสมดุลในด้านหลักวิชาการ กับเรื่องความเป็นจริงทางสังคม ไม่สามารถกำหนดนโยบาย เพื่อดูจากแค่หลักวิชาการ และไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่โดยแท้ของประชาชน

นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า ในการนี้ยังได้ให้แนวคิดไปในแต่ละกองที่ สศค. กำกับดูแลอยู่ โดยในส่วนของกองนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นกองที่ดูแลในเรื่องของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็ได้ให้นโยบายไปว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จะต้องเป็นธนาคารที่มาช่วยอุดช่องว่างทางการเงิน ทำให้สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ ก็เข้าใจว่าธนาคารพาณิชย์จะมีข้อจำกัดในการแบกรับความเสี่ยง ประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง หรือลูกค้ารายย่อยมากๆ ก็อาจจะเข้าไปถึงสินเชื่อธนาคาร อีกทั้งได้มีการพูดถึงนโยบายการคลัง ต้องสอดคล้องกับนโยบายการเงินและความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ต้องมีสัมพันธ์ที่ละมุนละม่อมกัน ต้องมีการทำงานร่วมกันให้ได้ เป็นการทำงานที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ ก็ได้ให้นโยบายกับ สศค. ว่า ต้องยืนอยู่บนหลักการ นโยบายทางการคลังของเรา ว่า สศค. มีหลักคิดอย่างไรโดยทางนโยบายทางการเงิน ก็มีหลักคิดในส่วนของเขา โดยทั้ง 2 ส่วนต้องทำงานร่วมกันให้ได้

รวมถึงมีการพูดถึงเรื่อง การจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ เวอร์ชวล แบงก์ (Virtual Bank) ที่ทางกระทรวงการคลังได้ออกประกาศของกระทรวง ในเรื่องของจำนวนหลาย ที่ทางกระทรวงจะไม่กำหนดจำนวนราย แต่จะกำหนดในเรื่องของเงื่อนไขคุณสมบัติเป็นหลัก เพื่อพิจารณาในการออกใบอนุญาต ซึ่งก็เป็นส่วน สศค. ที่ต้องยื่นในหลักการ ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลัง มองว่า ไม่ควรมีการจำกัดในเรื่องของจำนวนราย ควรดูในเรื่องของความพร้อมของผู้สมัคร มาเป็นที่ตั้งมากกว่า

นอกจากนี้ ในเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ตนมองว่าการเข้าถึงสินเชื่อสำคัญมากว่าราคาของสินเชื่อด้วยซ้ำ อาจจะมีดอกเบี้ยที่สูงบ้างก็เป็นเรืองปกติ แต่หากทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา

รวมถึงได้มีการพูดคุย กับกองนโยบายภาษี ในประเด็นในเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี โดยหลักมีอยู่ 3 ส่วนที่จะทำได้คือ 1.เรื่องของอัตราภาษี 2.เรื่องของฐานภาษี 3.การขยายเศรษฐกิจให้โตขึ้น แล้วนำมาสู่รายได้ด้านภาษี

ทั้งนี้ ก็ได้ให้นโยบายไปว่า เนื่องจากเศรษฐกิจที่เปราะบางขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงการเติบโตที่ทรงตัว ก็ควรให้ความสำคัญในการขยายฐานภาษี และการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าจะไปโฟกัสในเรื่องอัตราภาษี

ในส่วนของกองการออม ได้มอบนโยบายของสภาวะประชากรไทย ที่สูงอายุและยังคงยากจน ไม่มีเงินออม โดยปัจจุบันให้การอมแบบภาคสมัครใจ ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าไร รวมถึงการออมแบบภาคบังคับ ภาคเอกชนร่วมจ่ายก็มีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจตามมาอีก

ในตอนนี้กระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาเรืองของการออม โดยการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งจะมีการแถลงความชัดเจนจากนี้ต่อไป

ในส่วนกองมหภาค ได้มอบนโยบายในการพัฒนาโมเดล ในการประเมินสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยกระทรวงการคลัง และ สศค. ได้รับยกย่องว่าเป็นอันดับ 1 ในการที่จะมีโมเดล ในการประเมินเศรษฐกิจของประเทศ ได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนาต่อไปอีก

ในส่วนการเงินภาคประชาชน ก็ได้ให้ความสำคัญกับ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (พิโกไฟแนนซ์) เพราะถือเป็นกลไกที่จะมาเป็นคู่แข่งกับเจ้าหนี้นอกระบบ โดยพยายามดึงเจ้าหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ฟิโกไฟแนนซ์ และเป็นกลไกทีทำให้ประชาชนตัวเล็กๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

รวมถึงในส่วนของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้ให้นโยบายไปว่า ควรจะเพิ่มบทบาทในการเป็นการชี้นำเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งบทบาทนี้ สศค.ยังขาดอยู่ ตอนนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการดึงดูดเม็ดเงินใหม่ๆ จากชาติให้เข้ามาลงทุน การบุกไปขยายในตลาดใหม่ๆ ซึ่งจากนี้กองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก็ต้องทำงานประสานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องมาตรการสินเชื่อเมืองรอง และมาตรการ IGNITE THAILAND อีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 67 โดยคาดจะมีเม็ดเงิน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว รวมทั้งงบประมาณปี 68 รวมถึงเม็ดเงินจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในช่วงปลายปี ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทย มีโอกาสพุ่งขึ้นในปีนี้ และส่งผลไปถึงช่วงต้นปี 68 ด้วย

สำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง (สศค.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “เผ่าภูมิ” ลั่นการจัดเก็บภาษีต้องไม่ซ้ำเติมเพิ่มภาระให้ประชาชน