รอลุ้นร่างก้าวไกลเสนอยกเลิกจำกัดสิทธิประชาชนโพสต์เหล้า-เบียร์ได้ไม่ผิด

Alcohol Whisky Bottles

“ก้าวไกล” ลุ้นเสนอร่างยกเลิกจำกัดสิทธิประชาชน ควบคุมแบบสมดุล ให้ประชาชนโพสต์ภาพเหล้า-เบียร์ได้ไม่ผิดส่วนผู้ขาย-ผู้ผลิต สามารถโฆษณาได้ แต่ต้องจำกัดไม่ให้บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าถึง

  • มองกฎหมายควบคุมฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติหลายข้อที่จํากัดสิทธิของผู้ประกอบการ
  • ควรยกเลิกใช้กลไกคณะกรรมการในการควบคุม เพราะก่อให้เกิดปัญหาขอบเขตอํานาจ
  • ชี้ข้อเสนอจะปรับให้กฎหมายที่ปัจจุบันควบคุมแบบสุดขั้ว เปลี่ยนเป็นควบคุมแบบปกติ

วันนี้ (13 มี.ค.67) เพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ถึงประเด็นเรื่อง ร่างก้าวไกลเสนอยกเลิกจำกัดสิทธิประชาชนควบคุมแบบสมดุล ประชาชนโพสต์เหล้า-เบียร์ได้ ไม่ผิด โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

ประชาชนโพสต์เหล้า-เบียร์ได้ ไม่ผิด! ลุ้นวันนี้ประชุมสภาฯ จะได้พิจารณากฎหมายควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์หรือไม่

ร่างก้าวไกลเสนอ ‘ยกเลิกจำกัดสิทธิประชาชน ควบคุมแบบสมดุล ประชาชนโพสต์เหล้า-เบียร์ได้ ไม่ผิด’

การประชุมสภาฯ วันนี้ มีร่างกฎหมายสำคัญที่ต้องลุ้นว่าจะได้พิจารณาหรือไม่ คือกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม มี 3 ร่างเข้าสภาฯ ประกอบด้วย ร่างของภาคประชาชน 2 ฉบับ และร่างของพรรคก้าวไกล เสนอโดย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร – Taopiphop Limjittrakorn สส.กรุงเทพฯ เขต 24

แต่ไม่ทันได้ลงมติวาระ 1 ครม. ก็ขออุ้มไปศึกษา 60 วัน อ้างว่ากระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอร่างที่มีเนื้อหาหลักการเดียวกันเข้าสภาฯ อยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อ “ความรอบคอบ” ในการดูทุกฉบับให้สมบูรณ์ ขออุ้มไปก่อนแล้วจะส่งกลับสภาฯลงมติวาระ 1

จนตอนนี้ครบ 60 วัน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าสุดท้ายสภาฯ จะได้พิจารณาและลงมติในวันนี้หรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้ทางพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล จะบอกว่าเตรียมร่างของตัวเองไว้เสนอสภาฯ ด้วยก็ตาม

ร่างก้าวไกล ยกเลิกจำกัดสิทธิประชาชน ควบคุมแบบสมดุล

สำหรับนายเท่าพิภพ ผู้เสนอร่างของพรรคก้าวไกล มองว่ากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติหลายข้อที่จํากัดสิทธิของผู้ประกอบการในการจําหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกําหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการโฆษณาในลักษณะจํากัดสิทธิโดยเด็ดขาด กระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาพรวม และไม่ได้แก้ปัญหาสังคมที่อาจเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะมาตรา 32 “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักชวนใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าช่วยลดการดื่มแอลกอฮอล์ได้จริงหรือ

แต่ที่แน่ๆ เป็นกฎหมายที่กระทบช่องทางทำมาหากินของผู้ผลิตรายย่อยหรือผู้ผลิตหน้าใหม่ ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับก้าวไกล จึงมุ่งไปที่การยกเลิกการจำกัดสิทธิประชาชน ให้มีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบสมดุล

คืน ‘ความปกติ’ ให้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สาระสำคัญในกฎหมาย สรุปได้ว่า

(1) จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยไม่จำกัดเวลา และไม่ห้ามขายในวันหยุด แต่ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกที่จะไม่ขายในวันสำคัญทางศาสนาที่ตนนับถือได้

(2) ผู้ดื่มหรือประชาชนทั่วไป โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ไม่มีความผิด ส่วนผู้ขายหรือผู้ผลิต สามารถโฆษณาได้ แต่ต้องจำกัดไม่ให้บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าถึง

(3) ยกเลิกการใช้กลไก “คณะกรรมการ” ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมักก่อให้เกิดปัญหาขอบเขตอํานาจ และการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยเรื่องต่างๆ เปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดรับชอบทางการเมือง เป็นผู้ออกกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดรายละเอียดการควบคุมแทน

นายเท่าพิภพ กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เพื่อปรับให้กฎหมายที่ปัจจุบันมีลักษณะ ‘ควบคุมแบบสุดขั้ว’ เปลี่ยนเป็น‘ควบคุมแบบปกติ’ มีสมดุลระหว่างการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการส่งเสริมการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ

สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้จะได้เข้าสภาฯ หรือไม่ ผลการลงมติเป็นอย่างไร ติดตามพร้อมกันในประชุมสภาฯ 9.30 น. เป็นต้นไป