“เผ่าภูมิ” ลั่นการจัดเก็บภาษีต้องไม่ซ้ำเติมเพิ่มภาระให้ประชาชน

“เผ่าภูมิ” ลั่นการจัดเก็บภาษีต้องไม่ซ้ำเติมเพิ่มภาระให้ประชาชน เผยผนึกมหาดไทยเร่งศึกษาปรับปรุงเรื่องภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง เน้นในแง่ประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ควบคู่เรื่องอัตราภาษีให้เกิดความเหมาะสม

  • เผยรัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคอสังหาฯ เพราะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • จัดเต็มมาตรการ 5 มาตรการด้านภาษี พร้อม 2 มาตรการด้านการเงิน ผ่านสินเชื่อพิเศษ
  • แนะ ธปท. ไม่ควรมองการผ่อนปรน LTV ว่าจะทำให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่ม ควรมองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

วันนี้ (6 มี.ค.67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2567 “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2024” พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายภาครัฐต่อการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์” จัดโดยสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ

โดยนายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนในการจ้างงาน ซึ่งทางกระทรวงการคลังตระหนักดีถึงความสำคัญของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยในปีนี้ ก็ได้มีมาตรการเพื่อออกมากระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีทั้งมาตรการด้านภาษีและมาตรการเงิน อันประกอบไปด้วย มาตรการด้านภาษี ทั้งหมด 5 มาตรการ เริ่มที่ มาตรการที่ 1 ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระของผู้มีเงินได้

มาตรการที่ 2 การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ 90% ของภาษีที่ต้องเสียให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไม่เกิน 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการระหว่างการก่อสร้างโครงการ มาตรการที่ 3 การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

มาตรการที่ 4 การขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 67 นี้ เป็นการทั่วไป โดยจะขยายเวลาจัดเก็บออกไปอีก 2 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระให้ประชาชน มาตรการที่ 5 มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนจาก 2% เหลือที่ 1% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ที่จดทะเบียนในปี 67

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของมาตรการทางการเงิน อีก 2 มาตรการ นั้นคือ 1. โครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งจะมาช่วยสนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูง โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี

2.โครงการสินเชื่อ Happy Life สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยจะสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน10,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 2.98% ต่อปี ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในปีแรกที่ 1.95% ต่อปี

นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ทำการศึกษาเพื่อปรับปรุงในเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยรัฐบาลมีโจทย์หลักคือ จะทำให้เรื่องภาษีไม่ให้มีผลส่งผลกระทบกับประชาชน เนื่องด้วยในภาวะปัจจุบันเศรษฐกิจยังมีปัญหาเติบโตชะลอตัว

ทั้งนี้ สำหรับการปรับปรุงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้น คือจะมุ่งเป้าปรับปรุงทั้งในแง่ประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ควบคู่ไปกับเรื่องอัตราภาษีให้เกิดความเหมาะสมที่สุด

“ส่วนตัวมองว่าในเรื่องอัตราภาษี ไม่ควรซ้ำเติมต่อประชาชนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจมีความอ่อนแอ”นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโต ก็อยากเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขยับผ่อนปรนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย (LTV) เชื่อจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯได้ โดย ธปท.ไม่ควรมองและประเมินการผ่อนปรนเกณฑ์มาตรการ LTV ว่า จะทำให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น ควรมองในแง่บวกว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อ ก็อยากให้สถาบันการเงินผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ มองว่าสถาบันการเงินต้องเปิดรับความเสี่ยงให้มากขึ้น โดยต้องหาจุดสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับเสถียรภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต