IATA เปิดข้อมูลธุรกิจการบินโลกดีวันดีคืน

IATA อัพเดทธุรกิจการบินภาพรวมล่าสุด พ.ย.66 ฟื้น 99.1% เข้าใกล้ปี’62 แล้ว “เอเชีย แปซิฟิก” โตแรงสุด ตอกย้ำการเดินทางโดยเครื่องบินพลิกเร็ว เร่งรัฐบาลทุกประเทศตื่นตัวทำโปรเจกต์ SAF

  • IATA ยันการบินทั่วโลกสัญญาณสดใสฟื้นแล้ว 99.1%
  • เอเชียแปซิฟิกนำโด่งใน 5 ภูมิภาค ปลุกรัฐบาลเร่งนโยบายใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน SAF

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA :International Air Transport Aviation) เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินด้านบริการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลก มีสัญญาณการฟื้นตัวสดใสเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงขณะนี้ซึ่งมีการเดินทางทางอากาศหรือเครื่องบินกลับมาได้แล้วถึง 99.1 % ของสถานการณ์ปกติปี 2562 ทั้งด้านปริมาณรายได้ผู้โดยสารต่อกิโลเมตร (RPK) จำนวนที่นั่งเที่ยวบิน อัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย (load factor) ของเที่ยวบินภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 การเดินทางระหว่างประเทศ สายการบินทั่วโลกสามารถทำรายได้ผู้โดยสารกิโลเมตร (RPK) เพิ่มขึ้น29.7% มีผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 26.4% เทียบกับช่วงเดียวกันกับเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยเฉพาะ“เอเชียแปซิฟิก” เป็นภูมิภาคทำรายได้ผู้โดยสารต่อกิโลเมตรสูงอันดับ 1 เติบโตมากถึง 63.8%

ส่วนที่ 2 การเดินทางภายในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2566 เพิ่มขึ้น 34.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนและยังสามารถทำสถิติเติบโตสูงกว่าระดับเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึง 6.7% โดยเฉพาะ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” การเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศเพิ่มสูงเป็นพิเศษถึง 272% โดยไม่มีข้อจำกัดการเดินทางเหมือนกับช่วงโควิดอีกต่อไป ส่วน “สหรัฐอเมริกา” ผู้โดยสารขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.1% ทำสถิติพุ่งสูงสุดขึ้นมาแตะระดับใหม่ โดยได้อานิสงจากช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้ามีผู้คนออกเดินทางอย่างคึกคัก

วิลลี วอลช์ ผู้อำนวยการทั่วไปสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ “IATA” กล่าวว่าอุตสาหกรรมการบินของโลกกำลังเข้าใกล้การก้าวข้ามจุดสูงสุดการเดินทางทางเครื่องบินแซงปี 2562 เป็นผลมาจากกระแสทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นอุปสรรคกับผู้คนที่จะออกเดินทางอีกต่อไปแล้ว แต่ผู้โดยสารระหว่างประเทศยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ประมาณ 5.5% ทว่ามีแนวโน้มที่จะดีขึ้นตามลำดับอย่างรวดเร็ว ขณะที่ตลาดในประเทศทะยานดีขึ้นเหนือระดับก่อนเกิดโรคระบาดต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ “ตลาดผู้โดยสารระหว่างประเทศ” ของสายการบินนานาชาติ อัพเดทล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 ใน 5 ภูมิภาค เติบโตมีนัยสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

ภูมิภาคที่ 1 สายการบินในเอเชียแปซิฟิก  มีปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น 63.8% เป็นภูมิภาคสามารถฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบรายปีกับภูมิภาคอื่น ด้วยกำลังการผลิตเพิ่ม 58.0% มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 82.6% เพิ่ม 2.9%

ภูมิภาคที่ 2 สายการบินตะวันออกกลาง  มีปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น 18.6% จำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้น 19.0% มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 77.4% ลดลง 0.2%

ภูมิภาคที่ 3 สายการบินในอเมริกาเหนือ  มีปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น 14.3% จำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้น 16.3% มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80% ลดลง 1.4 %

ภูมิภาคที่ 4 สายการบินลาตินอเมริกา  มีปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น 20.0% จำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้น 17.7% มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 84.9% เพิ่มขึ้น 1.7% สูงที่สุดกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

ภูมิภาคที่ 5 สายการบินในแอฟริกา  มีรายได้ผู้โดยสารต่อกิโลเมตร (RPK) เพิ่มขึ้น 22.1% จำนวนที่นั่งเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 29.6% มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 69.7% ลดลง 4.3% ลดต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ

ทั้งนี้ธุรกิจการบินการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากโควิด ตอกย้ำถึงการเดินทางทางอากาศมีความสำคัญต่อผู้คนและธุรกิจต่าง ๆ มาก ดังนั้นรัฐบาลต่าง ๆ ควรหันมาตระหนักถึงการผลักดันนโยบายเร่งด่วนเรื่องการรณรงค์ให้สายการบินทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF :Sustainable Aviation Feul ) เพื่อนำการบินลดคาร์บอน ตามมติการประชุมเรื่องเชื้อเพลิงทางเลือกการบินครั้งที่ 3 (CAAF/3) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 เบื้องต้นรัฐบาลต่าง ๆเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมการใช้ SAF ลดคาร์บอนภายในปี 2573 ได้ถึง 5%

วิลลี วอลช์ ย้ำว่า ทางสมาคม IATA มองว่าปี 2567 จะเป็นปีที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ควรจะต้องติดตามผลที่ได้ประกาศออกไปเรื่องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอากาศยานการบิน เพื่อนำเสนอมาตรการเชิงนโยบายครอบคลุมเพื่อจูงใจให้เกิดการขยายขนาดการผลิต SAF อย่างรวดเร็วต่อไป -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน