กสทช.เดินหน้าออกใบอนุญาตวิทยุระบบเอฟเอ็ม

กสทช. เดินหน้า เปลี่ยนผ่านสถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็มไปสู่ระบบใบอนุญาต โดยปัจจุบันมีสถานีวิทยุอยู่ 3,809 สถานี

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ ด้านกิจการกระจายเสียงในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)​ กล่าวว่า ขณะนี้กสทช. อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ทดลองออกอากาศในกิจการกระจายเสียง เพื่อการเปลี่ยนผ่านสถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็มไปสู่ระบบใบอนุญาต ปัจจุบันมีสถานีวิทยุอยู่ 3,809 สถานี แบ่งวิทยุชุมชน 156 สถานี วิทยุสาธารณะ 592 สถานี และ ธุรกิจ 3,061 สถานี ซึ่งจะต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ดังนั้น กสทช. จึงจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อให้ผู้ทดลองออกอากาศดังกล่าวเข้าสู่ระบบการอนุญาตอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับสาระสำคัญ มีรายละเอียดดังนี้ 1. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ที่ได้จัดทำแผนความถี่วิทยุตามมาตรฐานสากลสามารถรองรับการอนุญาตสถานีวิทยุเอฟเอ็มได้ 2,779 สถานี โดยปราศจากการรบกวน ซึ่งต้องแก้ปัญหาคลื่นรบกวนให้แล้วเสร็จ พร้อมแบ่งสัดส่วนประเภทวิทยุด้วย คาดว่าจะออกใบอนุญาตให้ได้ปลายปีนี้

2. ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม และ ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่อกิจการวิทยุการบิน  ซึ่งหลายฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ต้องการให้เกิดการประมูล รวมทั้งอนุญาตให้สถานีที่ทดลองออกอากาศอยู่เดิมได้รับอนุญาตต่อเลย นั้น เป็นสิ่งที่ กสทช.ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย 

“มีผู้เสนอให้แก้ไขกฎหมายนั้น ส่วนตัวผมไม่ขัดข้อง เพราะเป็นเรื่องนโยบายที่ทางรัฐบาลเป็นผู้พิจารณา เพียงแต่ปัจจุบันบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดเช่นนี้ ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบก็ต้องดำเนินการตามที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด ซึ่งสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะไม่ต้องประมูลอยู่แล้วก็จะได้เข้าสู่ระบบ โดยตามแผน กสทช. จะออกประกาศเชิญชวนให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 นี้ เพื่อให้สถานีวิทยุได้ออกอากาศต่อในปี 2568 โดยเป็นการเข้าสู่ระบบที่มีการพัฒนาทั้งรูปแบบและคุณภาพตามมาตรฐานสากล”

ส่วนสถานีวิทยุธุรกิจก็ควรเข้าสู่ระบบการอนุญาต เพียงแต่จะใช้วิธีประมูลหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมาย โดยอาจมีการพิจารณาขยายระยะเวลาสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่ระบบใบอนุญาตระหว่างรอความชัดเจนของกฎหมาย รวมทั้งปัจจุบันได้มีการเปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบวิทยุระบบดิจิทัลโดยประชาชนหรือผู้ทดลองออกอากาศอยู่เดิม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและพัฒนาระบบด้วยตนเองก่อนที่หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตในวิทยุระบบดิจิทัลจะแล้วเสร็จในปีหน้า เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงทั้งรายเก่าและรายใหม่สามารถดำเนินการได้ให้สอดคล้องกับบริบทและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งผมมีความต้องการในการพัฒนากิจการกระจายเสียงที่ไม่เคยมีการพัฒนามามากกว่า 30 ปี เพื่อให้กิจการกระจายเสียงไทยยังคงดำรงการสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ต่อไป”

ข้อมูลอ้างอิงจาก กสทช.