ร้านค้า-ประชาชน วอนพลังงาน ตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อไปยาวๆ

LPG

ร้านค้า-ประชาชน ต้องการให้กระทรวงพลังงาน ต่ออายุมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 423 บาท/ถังขนาด 15 กก.ต่อไป เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย

  • จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 มี.ค.นี้
  • เพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชน
  • ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนสูง 

นายนรุตม์ ภัทรชัยพร นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)หรือก๊าซหุงต้ม เปิดเผยว่า  จากการที่กระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว( LPG ) หรือก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม(กก.) ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 มี.ค. 2567 นั้นทางประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าฯ คาดหวังว่ากระทรวงพลังงานจะมีการพิจารณาต่ออายุมาตรการตรึงราคาดังกล่าวออกไปอีกเนื่องจากปัจจุบันประชาชนเองยังประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้แรงซื้อต่ำ หากมีการปรับราคาเพิ่มจะทำให้ราคาอาหารปรับขึ้นอีกซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมประชาชน

 “ ขณะนี้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง เพราะรายจ่ายต่างๆที่สูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก สะท้อนจากร้านค้า LPG ครัวเรือนโดยรวมมียอดขายที่ลดลงราว 10-15%เพราะประชาชนต้องประหยัด ขณะเดียวกันหากขึ้นราคาร้านค้าเองก็ต้องหาเงินมาเพิ่มสต็อก LPG สำรองท่ามกลางรายจ่ายที่ก็สูงอยู่แล้วแต่กำไรต่อถังต่ำมากขึ้น ”

นายนรุตม์ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านค้าLPG ประสบปัญหาต้นทุนเพิ่มหลายด้าน ทั้งการจ้างพนักงานขนถังLPG ส่งให้กับบ้านต่างๆ  ที่หายากเนื่องจากต้องใช้แรงงานสูงคนทำงานเหล่านี้เลือกที่จะทำงานในโรงงานมากกว่า ทำให้ต้องจ่ายค่าพนักงานในระดับที่แพงขึ้น ขณะเดียวกันค่าบำรุงยานรถใหญ่ที่ขนส่งถังก๊าซฯก็สูง ค่าประกันภัยการขนส่งก็ค่อนข้างแพง  ขณะเดียวกันจากมาตรการใหม่ของกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้ร้านค้าที่เปิดใหม่โดยเฉพาะตึกแถวจะต้องให้ตึกข้างเคียงยินยอมให้ดำเนินการได้ซึ่งประเด็นนี้เท่ากับเป็นการคุมกำเนิดร้านค้าLPGใหม่เพราะแน่นอนว่าย่อมไม่มีใครอยากให้ร้านLPG ที่อันตรายอยู่ร่วมด้วยจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

 “ ทุกวันนี้ร้านค้า LPG ใหม่ที่จะเกิดก็ยาก ขณะที่ร้านดั้งเดิมเองที่เป็นคนรุ่นพ่อแม่ที่ดำเนินการอยู่ก็ไม่แนะนำให้รุ่นลูกรับช่วงต่อไปทำธุรกิจอื่นแทนมากขึ้นด้วยปัญหาต้นทุนต่างๆ ที่สูงท่ามกลางรายได้ต่อถังที่ต่ำลง ภาพรวมร้าน LPG ต่อไปคงจะลดลง” นายนรุตม์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดร้อยเอ็ดปั๊มLPG ที่เติมในรถยนต์มีการนำก๊าซฯไปเติมให้กับถังครัวเรือนแทนทั้งขนาด 4 กก.และ 15 กก. ซึ่งทำให้ยอดรายได้สูงแม้ว่าขณะนี้ยอดรถยนต์ที่ใช้ LPG แทบจะมีน้อยมากแม้ว่ารัฐจะให้รางวัลนำจับหรือแจ้งเบาะแส แต่ความคุ้มค่าก็ยังสูงอยู่ซึ่งถังเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปซ่อมบำรุงกลายเป็นถังเก่าๆ ที่จะไม่ปลอดภัยซึ่งปั๊มที่ดำเนินการเป็นปั๊มอิสระหรือประเภทต้วแทน 

ทั้งนี้จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้กรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.​) ร่วกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางในการคัดสภาพถังหุงต้มของร้านจำหน่าย โรงบรรจุ และผู้ค้าก๊าซฯ เพิ่มความเข้มข้นการตรวจตรา เพิ่มประสิทธิภาพการส่งถังกลับไปซ่อม อีกทั้งได้ผสานความร่วมมือภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ และเพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียน นอกจากนี้ กรมฯ ได้ยกระดับโทษการนำถังหุงต้มไปเติมที่สถานีบริการสำหรับรถยนต์ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายขึ้น