สถาบันอาหารลั่นปี 67 ตั้งศูนย์ฮาลาล ปั้น 1 เชฟ 1 หมู่บ้าน

ผอ.สถาบันอาหาร (Ufi) คนใหม่ เปิดแผนนำอุตฯอาหารไทยผงาดตลาดโลก ปี’67ใช้งบกว่า 1,200 ล้านบาท ดัน 2 บิ๊กโปรเจกต์ ตั้งศูนย์ฮาลาลแห่งชาติ และซอฟท์ เพาเวอร์ 3 โครงการ “ผลิต 1 เชฟ 1 หมู่บ้าน-Thai Food Chanel-ร้านชุมชน” ต่อยอดท่องเที่ยวและส่งออกวัตถุดิบสู่ตลาดโลก

  • ปี’67 นำซอฟท์เพาเวอร์อาหารคลิกออฟ 1 เชฟ 1 หมู่บ้าน 10,000 คน กับ 100 ร้านชุมชน
  • ชิมลางจัด 2 บิ๊กอีเวนต์ Future Food และ Halal Gastronomy

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร (Ufi) เปิดเผยว่า ในฐานะผู้นำคนใหม่เตรียมเดินหน้าองค์กรสถาบันมูลนิธิอุตสาหกรรมที่ก่อตั้งกว่า 30 ปี สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมอยู่ในเครือข่าย 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย บทบาทโดยตรงต้องส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านอาหารทั้งห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทาน หรือ Value Chain และให้บริการ One Stop Service ทำหน้าที่ “สถาบันอาหารแห่งชาติ” ดูแลครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เป็นทั้งแหล่งข้อมูล โรงงานนำร่องต้นแบบ LAB ห้องตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า เพื่อขอฉลากจากองค์การอาหารและยา แล้วยังมีศูนย์นวัตกรรมอาหารที่ได้ร่วมมือกับทางมิเอะ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ผลิตอาหารแปรรูปใหม่ ๆ สู่ท้องตลาด รวมทั้งมีศูนย์บริการข้อมูลครบวงจรทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายเครือข่าย สำคัญสุดหากผู้ประกอบการไทยขาดความรู้ทางเทคโนโลยีก็จะช่วยเจรจากับคู่ธุรกิจให้ได้ และช่วยแนะนำใช้กฎระเบียบต่าง ๆ ในไทยและต่างประเทศ

ขณะนี้ได้ร่วมขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs อุตสาหกรรมอาหารทั่วไทยกว่า 1 แสนราย มีบางส่วนเป็นสมาชิกสถาบันอาหาร จำเป็นต้องพัฒนาก้าวไปสู่ตลาดโลกอาหารยุคอนาคตใหม่ หรือ Future Food เป็นเทรนด์หรือแนวโน้มของโลก ปัจจุบันไทยมีคนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสุขภาพจำนวนมากซึ่งอยู่ในกลุ่มอาหารอนาคต ทั้ง วีแกน Functional food แปรรูปทำเป็นเมดิคัล หรือ Personal life food และเป้าหมายใหม่อีกอย่างคือ “อาหารฮาลาล” ตอบโจทย์คนที่รักสุขภาพในไทยและทั่วโลกต้องการบริโภคมากขึ้น

ปี 2567 รัฐบาลมอบหมายให้สถาบันอาหารรับผิดชอบขับเคลื่อนการก่อตั้ง “ศูนย์ฮาลาลแห่งชาติ” ดูแลและเป็นพี่เลี้ยงก่อนจะจัดตั้งก่อนขยายเครือข่ายสู่ด้านอื่น ๆ ต่อไป พร้อมจะนำร่องทำ 2 โครงการ ได้แก่ 1. ศูนย์ฮาลาลแห่งชาติ เพื่อสร้างการรับรู้เป็นวงกว้าง การทำกิจกรรม และผลิตผู้ประกอบการอาหารมาตรฐานฮาลาลเพิ่มมากขึ้น ได้รับจัดสรรงบ 100 ล้านบาท นำมาใช้กับภาคเอกชนจัดทำให้ครอบคลุมด้าน Safty and Security อาหารฮาลาลอย่างถูกต้อง แนะนำประโยชน์ต่อสุขภาพในตลาดผู้บริโภค ผนวกพัฒนาสินค้ากับทำตลาดด้วย

โครงการที่ 2 ซอฟท์ เพาเวอร์ กำลังรอนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แนวโน้มปี 2567 จะได้รับงบประมาณ 600 ล้านบาท ผ่านทางกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซอฟท์ เพาเวอร์ ดูแล 11 สาขา โดยมีสาขาอาหารรวมอยู่ด้วย ต้องการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของไทยซึ่งมีเสน่ห์และอัตลักษณ์เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับสถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานซอฟท์ เพาเวอร์ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. ผลิตเชฟอาหารไทยทั่วประเทศให้ได้ 10,000 ราย ได้รับงบประมาณจากโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดรายได้ สร้างงานให้คนไทยในหมู่บ้าน ชุมชน ทั่วประเทศ ทำหลักสูตรผลิตเชฟให้ได้10,000 คน จะเปิดรับสมัครเรียนทฤษฎีผ่านช่องทางออฟไลน์กับออนไลน์ ฉนั้นผู้เรียนไม่เฉพาะคนในประเทศ คนไทยในต่างประเทศก็เรียนได้ด้วย เป็นโครงการทำร่วมกับทางเชฟชุมชน ประธานฝ่ายเอกชนด้านอาหาร เมื่อเรียนทฤษฎีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบ เพื่อเรียนภาคปฏิบัติการทำอาหารไทยเต็มรูปแบบ โดยจะต้องสอบผ่านคุณวุฒิสถาบันวิชาชีพกับแรงงานแห่งชาติ เมื่อได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองครบตามขั้นตอน จากนั้นก็กระจายสู่อาชีพเชฟอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศได้ 2. Thai Food Chanel มุ่งสร้างแพลตฟอร์ม อี-คอมเมอร์ซ ให้ผู้ซื้อมาพบกับผู้ขายผ่านทางออนไลน์สื่อสารผ่านโซเชียล มีเดีย จะเน้นเรื่องของ Super Food Super Products รวมเรื่องวิธีทำอาหาร เพื่อกระจายเชฟอาหารไทยผ่านออนไลน์มากขึ้น ต่อเนื่องถึงการทำตลาดต่างประเทศ นำเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งไม่มีแพลตฟอร์มทำตลาดโดยสนับสนุนเข้าร่วมโร้ดโชว์ เทรดโชว์ งานเกี่ยวกับอาหารในและต่างประเทศ

โครงการที่ 3 ร้านอาหารเชฟชุมชน/อาหารถิ่น ตั้งเป้ายกระดับเชฟตามร้านอาหารตามหมู่บ้านและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 100 ร้าน โดยจะพัฒนาทักษะด้านการปรุง การเสิร์ฟ ต่อยอดใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เมื่อยกระดับสถานที่แล้วก็จะติดโลโก้ Chef Best เพื่อยืนยันเป็นร้านผ่านการประเมินแล้ว เพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นจึงสามารถขยายฐานสินค้าในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าสู่ตลาดอาหารได้ด้วย

ผอ.ศุภวรรณ กล่าวว่า การจัดทำแผนตามยุทธศาสตร์ ซอฟท์ เพาเวอร์ ไว้รองรับทั้ง 3 โครงการดังกล่าว เริ่มปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 จะมีวงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท เบื้องต้นทางสถาบันอาหารได้นำเสนองบประมาณปี 2568 เข้าไปด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในตลาดทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา อิตาลี เมื่อมีผู้สนใจเข้าร้านอาหารแล้วก็จะขยายฐานซื้อวัตถุดิบอาหารพ่วงได้ด้วย จึงสามารถเชื่อมโยงซอฟท์ เพาเวอร์ ด้านอาหารไทยกับตลาดนักท่องเที่ยวนานาชาติเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น ด้วยการเสนอเส้นทางหรือโปรแกรมของเชฟที่ได้พัฒนาปรัชญาวิถีชุมชน ทั้งร้านอาหารตำรับท้องถิ่น ชุมชน มาโฆษณาประชาสัมพันธ์ กับนำเสนอผ่านโครงการ Thai Food Chanel รวบรวมเมนูเด็ด ๆ ที่น่าสนใจ มีกลุ่ม Influencer มาสร้างแรงบรรดาลใจดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ทางสถาบันก็จะผลักดันผู้สนใจเข้าสู่อาชีพในท้องถิ่น

ผอ.ศุภวรรณ กล่าวว่า ปี 2567 สถาบันอาหารมีแผนจะจัด 2 อีเวนต์ใหญ่ ได้แก่ อีเวนต์แรก มหกรรมงาน Future Food รวมเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารแห่งอนาคต มาไว้ที่เดียวกัน เพราะเสียงตอบรับค่อนข้างดีมาก โดยมีโซนอาหารฮาลาล มาร่วมออกบูธด้วย อีเวนต์ที่ 2 จัดทำเส้นทางอาหาร Halal Gastronomy โดยจะผสมผสานการตลาดเข้ากับอุตสาหกรรม MICE สร้างความสำเร็จได้มากขึ้น ดึงงานอีเวนต์การจัดประชุมตามเส้นทางพื้นที่ชุมชนฮาลาลเข้ามาเสริมรายได้เป็นอย่างดี-เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน