เฟด ส่งสัญญาณปีนี้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแน่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟด  ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า เดือนมิ.ย.67  และอีก 2 ครั้งในปีนี้ หลังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50%  

  • เฟดปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2567-2569 
  • สะท้อนมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ Soft-landing
  • ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ​(เฟด)​ ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า เดือนมิ.ย.67  หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.67 เฟดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50%  

ทั้งนี้จากการประชุม FOMC วันที่ 19-20 มี.ค. ที่ผ่านมา เฟดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และยังคงส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ผ่านคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Dot Plot) อย่างไรก็ดี เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 2568 และ 2569 น้อยลง นอกจากนี้ เฟดมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2567-2569 ดีขึ้นกว่าประมาณการในการประชุมเดือนธ.ค. 2566 สะท้อนมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ Soft-landing ขณะที่ มองว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ในปีนี้จะสูงกว่าประมาณการรอบที่แล้ว

อย่างไรก็ดี เฟดไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยกล่าวเพียงว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งในปีนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเฟดน่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมเดือนมิ.ย. 2567 สอดคล้องกับตลาดส่วนใหญ่ โดยเฟดคงต้องการเห็นเงินเฟ้อชะลอลงมาใกล้เป้าหมาย 2.0% มากขึ้นกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายของเฟดอย่างยั่งยืนและไม่กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยยังคงมีความไม่แน่นอน โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่

ทั้งนี้ หลังจากผลการประชุม FOMC ออกมา และเฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ แม้เงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับลดลงและค่าเงินดอลลาร์ฯ ได้อ่อนค่าลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจากระดับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค