CEO ปตท. โชว์วิสัยทัศน์ นำธุรกิจเติบโตคู่ Net Zero

CEO ปตท. คงกระพัน
“คงกระพัน” CEO ปตท. โชว์วิสัยทัศน์ นำธุรกิจเติบโตคู่ Net Zero

“คงกระพัน อินทรแจ้ง” CEO ปตท. คนใหม่ ขึ้นเวทีเปิดวิสัยทัศน์อย่างยิ่งใหญ่ ลั่นพร้อมผลักดัน ปตท.เติบโต ควบคู่สังคมไทย ประเทศชาติ พร้อมมุ่งเป้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Net Zero โดย CEO ปตท. ย้ำพร้อมทำองค์กร ให้ปรับตัวก้าวให้ทันโลก ที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

  • ถึงเวลาต้องจริงจังกับ Net Zero ชี้หลายประเทศออกมาตรการทางภาษี เพื่อกดดันธุรกิจไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • พร้อมมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างการเติบโตในธุรกิจเน้นความยั่งยืน เล็งสนใจในธุรกิจไฮโดรเจน และคาร์บอน
  • ลั่นต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายในองค์กร ลดต้นทุน ยกระดับการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วันนี้ (14 มิ.ย.67) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานใหญ่แถลงวิสัยทัศน์อย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชน หลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 พ.ค.67 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 ปตท. สำนักงานใหญ่

โดย นายคงกระพัน กล่าวว่า หลังจากตนได้รับตำแหน่ง ซีอีโอ ปตท. คนใหม่ ก็คงจะเดินหน้าสู้ปณิธาน ของ ปตท. เหมือนเดิม คือ ต้องแข็งแกร่งร่วมกับสังคมไทยและประเทศชาติ พร้อมการเติบโตในระดับโลก อย่างยั่งยืน  โดยแผนจากนี้ ปตท. ยังคงใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล

ทั้งนี้ ปตท. เป็นบริษัทด้านพลังงานของคนไทย ซึ่งก็ต้องดำเนินธุรกิจให้มีการเติบโต มีกำไรที่เหมาะสม โดยต้องทำควบคู่ไปกับการเติบโตแบบยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สู่ Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยปัจจุบันธุรกิจหลักของ ปตท. ยังคงเป็นไฮโดรคาร์บอน ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันมีหลายประเทศในยุโรป ใช้กลไกด้านภาษีกดดันธุรกิจที่จะทำการค้าด้วย ว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน เป็นการกีดกันทางค้า โอกาสในการลงทุนต่างๆ ก็จะถูกจำกัด โดยเอาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาดูว่าธุรกิจนั้นๆ มีการปล่อยก๊าซฯ มากน้อยเพียงใด

“หาก ปตท. จริงจัง กับการวางเป้าหมาย Net Zero ให้ดีมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ ปตท. สามารถทำธุรกิจ ที่เราเก่ง และมีความถนัดเชี่ยวชาญ ออกมาดี ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้” นายคงกระพัน กล่าว

มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

นายคงกระพัน กล่าวด้วยว่า เพื่อการมุ่งสู่พันธกิจ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ปตท. วางกลยุทธ์ไว้ด้วยกัน 5 แนวทาง ได้แก่ 1.ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม โดยทำธุรกิจให้แข็งแรง ปรับผลงาน โดยหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพ พร้อมต่อยอดสร้างการเติบโต ในเรื่องที่ถนัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ Hydrocarbon and Power ประกอบด้วย

ธุรกิจสำรวจและผลิต ที่ต้องสร้างความต่อเนื่อง มั่นคงทางวัตถุดิบ จัดหาแหล่งที่มาใหม่ๆ ที่มีต้นทุนต่ำ สร้างผลตอบแทนที่ดี และต้องสร้างการเติบโตไฮโดรคาร์บอน ควบคู่กับการทำการแยกคาร์บอน (Decarbonization)

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิม ซึ่งต้องมีการแข่งขัน และ Lean พร้อมแสวงหาแหล่งทางเลือก ทั้ง Pipe gas และ LNG และมีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงต้องวางแผนการทำงานร่วมกับภาครัฐ

ธุรกิจไฟฟ้า โดยภารกิจหลักคือการสร้างความมั่นคง และรักษาความน่าเชื่อถือให้กับ กลุ่ม ปตท. พร้อมกับการจัดหาพลังงานสะอาด เพื่อช่วยการจัดการแยกคาร์บอน และ Net Zero ของกลุ่ม ปตท. และแสวงหาโอกาสสร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ

ธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่น ก็ต้องสร้างความแข็งแรง เติบโตร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ รวมทั้งเสริมความสามารถทางการแข่งขัน ด้านค่าใช้จ่าย และความยืดหยุ่นทางวัตถุดิบ ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของทั้งกลุ่ม ปตท. รวมถึงการมุ่งเน้นสร้างการเติบโต ใน High Value & Low Carbon Business

ธุรกิจค้าปลีก ก็ต้องมุ่งเน้นการลงทุนที่มี Substance มีความสำคัญต่อผลประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ: ต้องสร้างการทำงานร่วมกัน ภายในกลุ่ม ปตท. ยกระดับขยายผลทั้งใน และต่างประเทศ

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจ Non-Hydrocarbon Business  ที่เป็น New S-Curve หรือธุรกิจใหม่ มีหลักในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย กลยุทธ์ที่ทำเรื่อง EV วิทยาศาสตร์ชีวภาพและการดูแลสุขภาพ และดิจิทัล มีความสอดคล้องกับ เมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรจึงต้องปรับตัวเร็ว และต้องทบทวนรูปแบบธุรกิจอยู่เสมอ

รวมถึงต้องทบทวนห่วงโซ่ทางธุรกิจ ว่าพื้นที่ใด มีความน่าสนใจ มีอนาคต และเป็นประโยชน์ต่อ ปตท. และประเทศไทย หรือพื้นที่ใดที่ ปตท. มีจุดแข็งสามารถสอดประสานทำงานร่วมกัน ภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างได้

อาทิเช่น ธุรกิจ EV และโลจิสติกส์ ต้องเข้าใจห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เลือกเล่นในพื้นที่ที่เหมาะสม ธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) ร่วมมือกับพันธมิตรสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ธุรกิจ เอไอภาคอุตสาหกรรม ต้องยกระดับ ขยายผลทั้งกลุ่ม ปตท. ช่วยให้ธุรกิจเดิมเข้มแข็ง  พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่

2. สร้างการเติบโต หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ต่อยอดสร้างการเติบโตในธุรกิจ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน คือ ธุรกิจไฮโดรเจนและคาร์บอน มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบบูรณาการ ทั้งกลุ่ม ปตท. โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน และมีเป้าหมายร่วมกัน

โดยใช้จุดแข็งของทุกบริษัทในกลุ่ม โดยมี ปตท. เป็นผู้กำกับดูแลภาพรวม ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนให้สำเร็จ เป็นโอกาสแปลงเปลี่ยนธุรกิจเดิม ของกลุ่ม ปตท. ให้มีข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้น และสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ได้

CEO ปตท. วางแผนดำเนินธุรกิจยั่งยืน ควบคู่ Net Zero

3. สร้างความชัดเจนในแนวทางความยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการบูรณาการเข้าไปในธุรกิจ ผสานการบริหารจัดการการดำเนินธุรกิจ และ Net Zero เข้าด้วยกันทั้งกลุ่ม ปตท. มุ่งสู่การเป็น Net Zero Company ควบคู่กับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว สร้างคุณค่าสู่สังคม

ผ่านแนวทางการปรับพอร์ตโฟลิโอการลงทุน และปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และชดเชยคาร์บอน ด้วยเทคโนโลยีดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และโครงการปลูกป่า

4. สร้างปัจจัยที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ สร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เป็นเลิศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ จึงควรมุ่งเน้นทำสิ่งที่ควบคุมได้อย่างเข้มข้น ต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน ลดต้นทุน โดยการยกระดับการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI มาประยุกต์ใช้

โดยมีแผนงาน และเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถขยายผลได้ทั้งกลุ่ม ปตท. อีกทั้ง ต้องทำองค์กรให้มีความลีน เคลื่อนตัวได้ไว ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล  ซึ่งต้องเริ่มในวันที่องค์กรยังแข็งแรง

พร้อมจัดลำดับความสำคัญ เริ่มทำโครงการที่เห็นผลเร็ว เพื่อให้เกิดการยอมรับในทุกระดับ และต้องสร้างความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรม ปลูกฝังให้พนักงานกล้าที่จะปรับเปลี่ยน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

5. รักษาพื้นฐานสำคัญ มุ่งเน้นธรรมาภิบาล และการกำกับกิจการที่ดี บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล รวมถึงการบริหารบุคลากร ด้วยความยุติธรรม สร้างระบบที่ดี เพื่อส่งเสริมคนดีและคนเก่ง ให้เติบโตอย่างเหมาะสม

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท. ต้องปรับตัว ทำองค์กรให้มีความคล่องตัว มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน”  นานคงกระพัน กล่าว

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “คงกระพัน” ซีอีโอปตท. คนใหม่ เปิดวิสัยทัศน์ พาองค์กรสู่ความยั่งยืน