“กรณ์” แย้ง “ดิจิทัลวอลเล็ต” การออกเป็น พ.ร.บ.กู้มาแจก ไม่เคยมีใครทำ

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง

“กรณ์” แย้ง “ดิจิทัลวอลเล็ต” การออกเป็น พ.ร.บ.กู้มาแจก ไม่เคยมีใครทำ เพราะอาจขัดต่อหลักกฎหมายหนี้สาธารณะที่มีกติกาชัดเจนว่ารัฐบาลขาดดุลได้ปีละไม่เกินเท่าไร

  • ตอนเสนอนโยบายเพื่อไทยพูดชัดมากว่า
  • จะไม่กู้ “ทุกบาทจะมาจากงบประมาณ”

“ผมยืนยันตามความคิดเดิมที่พูดไว้ตั้งแต่มีการหาเสียงนโยบายนี้ว่า อันตราย และยิ่งเมื่อยืนยันแล้วว่าเงินไม่มี ต้องอาศัยเงินกู้ ยิ่งต้องหลีกเลี่ยงด้วยเหตุผลทั้งปวง”

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ตอน #พรรคเพื่อไทย เสนอนโยบาย #แจกเงินดิจิทัล เพื่อไทยพูดชัดมากว่า จะไม่กู้ “ทุกบาทจะมาจากงบประมาณ”

ถึงวันนี้ เมื่อตระหนักชัดเจนแล้วว่า เงินงบประมาณมีไม่พอสำหรับเรื่องนี้ หากยังจะดันทุรังเดินต่อ ผมเกรงว่าปัญหาจะเกิด

ถ้าผ่านด่านกฎหมายแล้วกู้ได้ แจกได้ ก็จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจ

ถ้าเจอตอกฎหมาย ปัญหาก็จะเกิดกับเพื่อไทย และรัฐบาลโดยรวม (หากผ่านมติ ครม. มาแล้ว)

มีคนเพื่อไทยเชียร์ว่า #กู้มาแจก ไม่เห็นเป็นอะไร ถ้ากระตุ้นเศรษฐกิจไม่สำเร็จ เงินนี้ก็ไม่ได้ไปไหน หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจอยู่ดี (!) จุดนี้อันตรายครับ พูดเหมือนว่า ‘หนี้’ คือ ‘รายได้’ ที่ไม่ต้องคืน และพูดเหมือนไม่รู้ว่า มันมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงมาก!

สำคัญที่สุด การออก “พ.ร.บ.กู้มาแจก” เป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักวินัยการคลังอย่างให้อภัยไม่ได้จริงๆ และผมเชื่อว่าส่อขัดหลักกฎหมายด้วย

ผมขอย้อนเล่าให้ฟังถึงกรณีใกล้เคียงที่เคยเกิดขึ้น เคยมีสองรัฐบาลที่คิดจะออก  “พ.ร.บ.กู้เงิน“ หนึ่งในนั้นคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ช่วงนั้นมีวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยเราติดลบหนัก ส่งผลให้รายรับรัฐบาลตํ่ากว่าประมาณการสูง จึงจำเป็นต้องกู้นอกงบประมาณมาเติมให้เต็ม และเป็นข้อบังคับตามกฎหมายทางการคลัง

มิหนำซ้ำตอนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก ผมจึงเสนอคุณอภิสิทธิ์ให้ออก พ.ร.ก.เร่งด่วนแทน (พ.ร.ก.ออกโดยอำนาจฝ่ายบริหาร ส่วน พ.ร.บ.ต้องผ่านสภาฯ)

คุณอภิสิทธิ์ถามผมว่า “ควรออกเท่าไร?”

เนื่องจากสถานการณ์วันนั้นยังไม่นิ่ง กระทรวงการคลังเลยเสนอเผื่อเหลือเผื่อขาดไป 8 แสนล้านบาท

นายกฯ อภิสิทธิ์ถามผมต่อว่า “เร่งด่วน และใช้ทันทีจริงๆ เท่าไร” พวกเรากลับมาทำการบ้าน แล้วกลับไปตอบว่า “4 แสนล้านบาท”

นายกฯ อภิสิทธิ์ เลยสรุปว่า “ถ้างั้นออก พ.ร.ก.แค่ 4 แสนพอ ส่วนอีก 4 แสนไปเตรียมออกเป็น พ.ร.บ. แทน”

ซึ่งหลังจากเราได้ใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.ไปแล้ว เศรษฐกิจก็ดีขึ้นมาก รายได้รัฐบาลฟื้นตัว ผม รองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ และคุณอภิสิทธิ์ จึงตัดสินใจ ยกเลิกแผนการออก พ.ร.บ. และโอนรายการที่เตรียมใช้เงินกู้ พ.ร.บ. ไปไว้ในงบประมาณปกติแทน 

ทั้งหมดเพราะ พ.ร.ก. มีไว้ในกรณีฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ (ตามนิยามรัฐธรรมนูญ) และการกู้จาก พ.ร.บ.ยิ่งไม่ควรทำ เพราะอาจขัดต่อหลักกฎหมายหนี้สาธารณะที่มีกติกาชัดเจนว่ารัฐบาลขาดดุลได้ปีละไม่เกินเท่าไร

ถ้าให้อธิบายง่ายๆ กฎหมายระบุไว้ว่ารัฐบาลขาดดุลเกินเพดานที่กำหนดในกฎหมายไม่ได้ นอกจากให้ออกเป็น พ.ร.ก.ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า “ด่วนจริง จำเป็นจริง”

การออกเป็น พ.ร.บ.กู้มาแจก จึงไม่เคยมีใครทำ และไม่ควรทำได้ เพื่อไทยรู้ดีเพราะเป็นรัฐบาลที่สอง ที่คิดจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน (กรณีกู้เงิน 2 ล้านล้าน) ผมเป็นหนึ่งในคนที่ทำเรื่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับอีกหลายท่าน ซึ่งตอนนี้ก็นั่งอยู่ในพรรคร่วมของรัฐบาลเศรษฐาด้วย

ผลสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีกฎหมายนี้ตกไป เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญหมวดวินัยการคลัง

ผมยืนยันตามความคิดเดิมที่พูดไว้ตั้งแต่มีการหาเสียงนโยบายนี้ว่า อันตราย และยิ่งเมื่อยืนยันแล้วว่าเงินไม่มี ต้องอาศัยเงินกู้ ยิ่งต้องหลีกเลี่ยงด้วยเหตุผลทั้งปวง