“นอมินี” หรือคนไทยถือหุ้นในนิติบุคคลแทนคนต่างด้าว หรือคนไทยทำนิติกรรมอำพรางแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าว สามารถทำธุรกิจในไทย ตามที่กำหนดอยู่ในพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้นั้น
ถือเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นในไทยมาอย่างยาวนาน และส่งผลกระทบต่อธุรกิจคนไทยเป็นอย่างมาก!!
เพราะธุรกิจภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ที่กำหนดให้คนต่างด้าวต้องขออนุญาตก่อนประกอบธุรกิจนั้น จะเป็นธุรกิจบริการตามบัญชีแนบท้าย 3 ซึ่งคนไทยยังไม่พร้อมแข่งขันกับนักลงทุนจากต่างประเทศ หากปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจโดยเสรี ธุรกิจไทยอาจล้มหายตายจากได้
ธุรกิจบริการบัญชีแนบท้าย 3 เช่น กิจการโฆษณา โรงแรม นำเที่ยว ขายอาหารและเครื่องดื่ม กิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช ก่อสร้าง บริการทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม บริการทางกฎหมายและบัญชี ฯลฯ
ซึ่งปัจจุบัน มีคนไทยเป็นนอมินีของคนต่างด้าวในธุรกิจเหล่านี้จำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐของไทย ได้ผนึกกำลังกันกวาดล้าง เพื่อทำให้ปัญหานี้ค่อยๆ หมดไป และ“หยุด”การทำลายผู้ประกอบการไทย และธุรกิจไทย
ปี 67 พบธุรกิจเข้าข่ายนอมินี 4 ราย
สำหรับหน่วยงานหลัก ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ คือ“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า”กระทรวงพาณิชย์ ผู้กำกับดูแลพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542
ในแต่ละปี กรมจะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กรมที่ดิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะเป็น “นอมินี”
โดยปีงบประมาณ 67 มีธุรกิจเป้าหมายที่ตรวจสอบ 26,019 ราย ใน 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่ง ใน 6 จังหวัด คือกรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี
แต่จากการคัดกรองตรวจสอบอย่างเข้มข้นเหลือเพียง 498 ราย ในจำนวนนี้ ยุติเรื่องแล้ว 371 ราย เพราะไม่พบความเสี่ยง
ส่วนอีก 64 รายได้แจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดด้านบัญชี เพราะพบข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำบัญชี จึงส่งหนังสือให้นิติบุคคลมาชี้แจง แต่กลับนิ่งเฉย จึงแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายบัญชีเพิ่มเติมจากกรณีอาจเข้าข่ายเป็นนอมินีด้วยและได้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว
ขณะที่อีก 63 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบ โดยจำนวนนี้มี 4 รายที่ต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายนอมินี ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯสุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ ล่าสุด อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และจะส่งต่อให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายขยายผลการตรวจสอบต่อไป
ลุยตรวจสอบธุรกิจเสี่ยงเพิ่มเติม
ในปี 67 นอกจากการตรวจสอบธุรกิจเสี่ยง 4 ธุรกิจดังกล่าวข้างต้นแล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังได้ตรวจสอบธุรกิจอื่นเพิ่มเติมด้วย เพราะขณะนี้ มีปัญหาสินค้าราคาถูก ไร้มาตรฐานจากต่างประเทศ ทะลักเข้าไทยจากการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
อีกทั้งยังมีทุนต่างชาติเข้ามาให้บริการขนส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค และยังมีทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ในไทย ทั้งๆ ที่ธุรกิจเหล่านี้ ต่างชาติจะต้องขออนุญาตก่อนประกอบธุรกิจในไทย
โดยธุรกิจเสี่ยง ที่ตรวจสอบนอมินีเพิ่มเติม ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจโกดังสินค้า ธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าเหล็ก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ฯลฯ
และเมื่อเร็วๆ นี้ กรมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรุงเทมหานคร (กทม.) แล้ว เช่น ในพื้นที่เขตห้วยขวาง สำเพ็ง พบว่าบางรายมีข้อสงสัยอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือเป็นนอมินี ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก
แต่บางราย เช่น ร้านขายอาหาร แม้ผู้ขาย และเจ้าของร้าน มีลักษณะเหมือนคนต่างด้าว และพูดไทยไม่ชัด แต่กลับมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย จึงไม่มีความผิดฐานเป็นนอมินี เพราะถือเป็นคนไทย
สำหรับความผิดกรณีนอมินี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล มีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานในไทยแล้วเปิดแผงขายสินค้าในตลาด เช่น อาหารสด อาหารตามสั่งนั้น ถือเป็นความผิดซึ่งหน้าตามกฎหมายของกรมการจัดหางาน หรือกฎหมายของกทม. ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ สามารถดำเนินการได้ทันที
ฟันนอมินีอสังหาฯภูเก็ต 23 ราย
จากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานพันธมิตร นำมาซึ่งความสำเร็จแล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ก.ย.67 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษา ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.2812/2567
ลงโทษผู้กระทำความผิดแล้ว 23 ราย โดยมีโทษปรับรายละ 200,000 บาท รอการลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้คุมความประพฤติ 1 ปี และสั่งให้จดทะเบียนเลิกบริษัท
สำหรับคดีนี้เริ่มต้นจากการที่กรมได้ตรวจสอบและพบความผิดปกติการถือครองหุ้นของนิติบุคคล จากการลงพื้นที่ตรวจสอบและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงนอมินีที่ดำเนินธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต
โดยพบว่า มีกลุ่มสำนักงานกฎหมายและสำนักงานบัญชี รับจ้างจดทะเบียนนิติบุคคล หรือทำบัญชี โดยใช้ชื่อคนไทยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในหลายบริษัท เป็นผลเอื้อให้บุคคลต่างด้าวประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายในไทย จึงส่งเรื่องต่อให้ดีเอสไอ ขยายผลการตรวจสอบเป็นคดีพิเศษ
และหลังจากดีเอสไอ ตรวจสอบแล้ว พบว่า มีพฤติกรรมนอมินีจริง เพราะมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอนำไปสู่การส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องต่อศาล และศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษแล้ว
ถือเป็นคดีตัวอย่างที่ได้ลงโทษตามกฎหมายกับผู้ที่ให้การสนับสนุนต่างด้าวประกอบธุรกิจในไทยโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย!!
ทั้งนี้ กรมยังคงเดินหน้าตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง และจะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกับ ขอเตือนคนไทย ที่มีพฤติกรรมช่วยเหลือบุคคลต่างชาติที่เข้าข่ายนอมินีให้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะนอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังถือเป็นการทำลายผู้ประกอบการไทย และธุรกิจไทย
เปิดติวเข้มกฎหมายธุรกิจต่างด้าว
ขณะเดียวกัน กรมยังได้เปิดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวในไทย
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ทั้งที่เป็นนิติบุคคลต่างด้าว, สำนักงานกฎหมาย และสำนักงานบัญชี เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และลดการกระทำผิดทั้งที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และจงใจกระทำความผิด
เพราะจากการตรวจสอบ พบว่า สำนักงนกฎหมาย และสำนักงานบัญชี มักเป็นผู้ช่วยเหลือให้คนต่างด้าวทำธุรกิจในไทยโดยเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมายนี้ หรือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดให้เกิดนอมินี
เนื่องจากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงของการเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ เหมือนเป็นหน้าด่านที่จะให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างด้าว ก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกับกรม
ดังนั้น หากสำนักงานกฎหมาย และสำนักงานบัญชี สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักลงทุนต่างชาติได้ ก็จะลดความผิดพลาด และตัดวงจรนอมินีได้