ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า ตลาดหุ้นปรับตัวลง รับมืออย่างไร?

เงินบาทผันผวนปรับอ่อนค่าลง มาสู่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าที่สุดในรอบประมาณ 11 เดือน สอดคล้องกับเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค

สาเหตุเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากการที่ตลาดเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงดอกเบี้ยในอัตราสูง และมีแรงสนับสนุนให้ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เพิ่มแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร และยังมีแรงกดดันจากแรงซื้อทองคำจากราคาที่ปรับลดลง

อย่างไรก็ดี ความผันผวนในตลาดการเงินไทยในปัจจุบันคาดว่าเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว โดยในระยะยาวแล้วมูลค่าหลักทรัพย์จะเป็นไปตามผลประกอบการของบริษัทในตลาด ทั้งนี้ ทาง ธปท. เองก็ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอาจจะพิจารณาเข้าดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ได้มีนโยบายดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทและตลาดทุน และเสถียรภาพด้านต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งได้มีแนวนโยบายและมาตรการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน นโยบายสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ช่วยลดอุปสรรค ส่งเสริม ease of doing business ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่าน BOI และ EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนที่จะช่วยเพิ่มความสามารถทางการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า และวางรากฐานให้เศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวมีความสำคัญอย่างมาก สร้างรายได้เข้าประเทศ เพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการ เพิ่มกำไรให้ภาคธุรกิจหลักและกิจการเกี่ยวเนื่อง แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยได้ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า การยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย (จีนและคาซัคสถาน) และเตรียมฟื้นคืนฐานตลาดกลุ่มกระแสหลัก เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และกระตุ้นกลุ่ม Revisit และ Quality เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ความถี่ และกระตุ้นการใช้จ่าย และปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

รวมทั้งรักษาความปลอดภัย จะสร้างความมั่นใจและความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการส่งออก ลดการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น ส่งผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัด โดยรัฐบาลจะส่งเสริมการส่งออกโดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ให้สินค้าและบริการของประเทศไทย อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ รวมทั้งเร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA)

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจ ภาคการคลัง และระบบการเงิน มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 245 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ทำให้มีความมั่นคงและเพียงพอที่จะบริหารรับมือกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้ 

* บทความนี้ เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ได้ผูกพันกับองค์กรต้นสังกัด

ผู้เขียน

  • ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
  • ดร. ปาริฉัตร คลิ้งทอง ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงินและต่างประเทศ

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

9 ตุลาคม 2566

ช่องทางการติดตาม The Journalist Club