“มนพร”ลงพื้นที่ทางน้ำเชียงรายยกระดับศก.ท่องเที่ยว สร้างรายได้ปชช.

“มนพร”ลงพื้นที่ทางน้ำเชียงรายหวังยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว พัฒนาท่าเทียบเรือให้มีมาตรฐาน หวังอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างรายได้ประชาชน

  • พัฒนาท่าเทียบเรือให้มีมาตรฐาน
  • อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ติดตามการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ การขุดลอก ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ และการบริหารจัดการส่งออกสัตว์มีชีวิตของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่

โดยนางมนพร ได้ติดตามการพัฒนาด้านคมนาคมทางน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน และความคืบหน้าโครงการขุดลอกต่างตอบแทนพื้นที่ภาคเหนือ โครงการขุดลอกแม่น้ำในประเทศ (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) รวมทั้งร่องน้ำเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเดินเรือ การอุปโภคบริโภค และเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตร โครงการก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำอ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางเข้า – ออก ราชอาณาจักรด้วยเรือผ่านจุดผ่านแดนถาวร สามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567

จากนั้นได้ลงพื้นที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขงที่ได้มาตรฐานสากล เป็นประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนระหว่าง 4 ประเทศคือ ไทย จีน สปป.ลาว และเมียนมา โดยติดตามการบริหารจัดการท่าเรือ และความคืบหน้าการส่งออกสัตว์มีชีวิตรวมถึงเป็นสถานที่ใช้ลำเลียงปศุสัตว์เพื่อการส่งออก

นางมนพร กล่าวว่า สำหรับโครงการสัตว์ส่งออกท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ได้ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และสามารถดำเนินโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ผ่านที่ ทชส. ในพื้นที่ 1 บริเวณพื้นที่ท่าเรือแนวลาดฝั่งทิศใต้ ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยคาดการณ์ปริมาณสัตว์ส่งออกสุกร 15,000 ตัว/เดือน หรือ 180,000 ตัว/ปี โค กระบือ จำนวน 5,000 ตัว/เดือน หรือ 60,000 ตัว/ปี ซึ่ง ทชส. ทำให้มีรายได้จากการดำเนินโครงการฯ เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ การส่งออกสัตว์มีชีวิตผ่านที่ ทชส. ต้องปฏิบัติตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การขนถ่าย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยผู้ประกอบการต้องทำนัดหมายช่วงเวลาในการขนถ่ายสัตว์ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง การล้างสิ่งปฏิกูลและฉีดยาฆ่าเชื้อ การขนย้ายโดยมีที่กั้นที่แข็งแรง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีอุปกรณ์ช่วยขนสัตว์ขึ้นลง รวมทั้งการทำความสะอาดจุดขนถ่ายสัตว์ เมื่อดำเนินการขนถ่ายแล้วเสร็จ เป็นต้น

“ปัจจุบันท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนได้ปลดล็อคและดำเนินการตามนโยบายที่ให้ไว้เกี่ยวกับโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งทุกหน่วยงานยินดีสนับสนุนการดำเนินการของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ทั้งนี้ ขอขอบคุณการท่าเรือฯ ที่เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโค กระบือ เพื่อสร้างรายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบท่าเรือและอำเภอเชียงแสน และขอให้ดำเนินการตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากร เพื่อเป็นไปตามมาตรฐาน EIA ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางมนพร กล่าว

นางมนพร กล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับทราบความคืบหน้าปัญหา อุปสรรค และผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านความสะดวก ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ภายใต้มาตรฐานการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากลและความปลอดภัยสูงสุด