“มนพร”ลุยบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง “ร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์”

“มนพร”ลุยบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งพื้นที่ “ร้อยเอ็ด – กาฬสินธุ์” พร้อมเร่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค ส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

  • พร้อมเร่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค
  • ส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่ิอวันที่ 2 มีนาคม 2567 ตน ได้เข้าร่วมคณะตรวจราชการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง การแก้ไขปัญหาพนังกั้นลำน้ำชีทรุดตัว การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) และจุดแวะพักของจังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณบึงอร่าม อำเภอยางตลาด เพื่อสร้างมูลค่าและโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยนางมนพร กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชน ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง จากการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขพนังกั้นลำน้ำชีทรุดตัว บนถนนทางหลวงชนบท สาย กส.4073 ช่วง กม 2+300 บ้านโนนแดง อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่ามีสาเหตุเกิดจากกระแสน้ำชีกัดเซาะตลิ่ง

ทำให้ลาดคันทางช่วงติดกับแม่น้ำพังทลายเสียหายยาวประมาณ 100 เมตร จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งแขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ได้ดำเนินการซ่อมแซมเสริมความแข็งแรงของคันทางชั่วคราว เพื่อป้องกันตลิ่งพังทลายจากการกัดเซาะของกระแสน้ำและรองรับน้ำชีล้นตลิ่งในช่วงฤดูฝนปี 2567 นี้

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาคันทางพังทลายและป้องกันน้ำท่วม ถนนสาย กส.4073 แยก ทล.2367 – บ้านสีถาน อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเตรียมเสนอของบประมาณปี 2568 เพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่งแม่น้ำชี ระยะทาง 425 เมตร

และโครงการก่อสร้างยกระดับผิวจราจร ถนนสาย กส.4073 แยก ทล.2356 – บ้านสีถาน อำเภอฆ้องชัย กมลาไสย และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยกรมทางหลวงชนบทอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบ และจะเสนอของบประมาณก่อสร้างในปี 2569 เพื่อยกระดับผิวจราจรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.60 เมตร เนื่องจากระดับผิวจราจรเดิมต่ำกว่าระดับน้ำสูงสุดปี 2554 ในช่วงฤดูน้ำหลาก ระดับในแม่น้ำชีจึงเอ่อล้นไหลข้ามพนังกั้นน้ำเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน และบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

นางมนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์มีอัตราการขยายตัวด้านเศรษฐกิจสูง การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีความต้องการเดินทางในโครงข่ายทางหลวงสูงขึ้น ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก – ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) พาดผ่าน เชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งสินค้าจากเมียนมา – สปป.ลาว – ไทย – เวียดนาม จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายคมนาคมเพื่อรองรับปัญหาการจราจรและขนส่งสินค้าในอนาคต

ตามนโยบายส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายถนนให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน ช่วยลดระยะเวลาเดินทาง ลดต้นทุนขนส่งและมีโครงข่ายที่ส่งเสริมภาคเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรมและสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ในทุกมิติ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนดำเนินโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) ระยะทาง 22.042 กิโลเมตร ปัจจุบันได้แนวเส้นทางพร้อมสำรวจและออกแบบโครงการฯ แล้วเสร็จ เตรียมเสนอของบประมาณปี 2568 เพื่อจ้างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และของบประมาณก่อสร้างในปี 2570 วงเงินงบประมาณ 4,400 ล้านบาท เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จจะเกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคมรอบเมืองกาฬสินธุ์ที่มีความสมบูรณ์ สะดวก รวดเร็ว ลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง รองรับอัตราการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนาคต