กสทช.ลงนาม พัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองยกระดับ telehealth

กสทช. ร่วมกับหน่วยงานระดับชาติ ลงนามพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรเฉลิมพระเกียรติฯ ครบรอบ 72 พรรษา ยกระดับสาธารณสุขของไทยต่อสู้กับโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมส่งเสริมระบบโทรเวชกรรม

  • ยกระดับสาธารณสุขของไทย
  • ต่อสู้กับโรคหลอดเลือดสมอง
  • ส่งเสริมระบบโทรเวชกรรม

ศ. คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้แทน กสทช. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสิรินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา โดยร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุขระดับประเทศ อีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรงพยาบาลพระยุพราช กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

การลงนามครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็กพระยุพราช นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมลงนามใน MoU โดยมีผู้บริหารระดับปลัดกระทรวงจากหน่วยงานดังกล่าวร่วมเป็นสักขีพยาน

การลงนามครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสาธารณสุขของไทยในการยกระดับการพัฒนาระบบบริการหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โดยจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดบริการทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำเร็วที่สุดหลังเกิดอาการ บริการ Mechanical Thrombectom การได้รับการดูแลจาก Stroke Unit และบูรณาการการดูแลรักษาโรคหลอดเลือดในสมองแบบเชิงรุก เป็นต้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. เกษม ได้เน้นย้ำความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง และความสำคัญที่ผู้ป่วยโรคดังกล่าวจะต้องได้รับการรักษาที่มีคุณภาพอย่างทันท่วงที เพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุ “ตีบ ตัน แตก ตาย” กับประชาชนชาวไทย

นอกจากนี้ ประธาน กสทช. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ connectivity ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที โดยการลงนามในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาอันมุ่งมั่นของ กสทช. ที่จะช่วยยกระดับสาธารณสุขของไทยผ่านการส่งเสริมระบบโทรเวชกรรม (telehealth) แบบครบวงจรต่อไป