กลยุทธ์สร้างอีสานใหม่! “อนุทิน” เปิดยุทธศาสตร์สร้างชุมชนเข้มแข็ง

“อนุทิน” เปิดหมดทุกยุทธศาสตร์ นับหนึ่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง สู่การพัฒนาคนให้ทันโลก ย้ำให้ความสำคัญทั้งกับการรักษาสิ่งเดิม เพิ่มเติมสิ่งใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก

  • พร้อมเปิดรับโอกาสทางการค้า-การลงทุน ที่มากับเส้นทางสายไหมและระเบียงเศรษฐกิจใหม่
  • ปรับตัวสู่การเกษตรวิถีใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลักดัน Soft Power ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย
  • ปรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคน และกระจายความเจริญ เพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว ปาฐกถาพิเศษ ในวาระฉลองครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เศรษฐกิจฐานรากกับการขับเคลื่อนอีสานใหม่ “Mobilizing New Isan for the Future of Thailand” ใจความตอนหนึ่งว่า ภูมิภาคนี้ คือ ภูมิภาคแห่งโอกาส รัฐบาลมียุทธศาสตร์ที่วางไว้เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแผนการที่ชื่อว่า ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน มีฐานอยู่ที่นครราชสีมา ขอนแก่นอุดรธานี และหนองคาย เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ ผนวกกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคอีสานโดยรวม ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ไทยตั้งเป้า เพิ่มมูลค่าการเติบโตเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ที่ 4.4 ล้านล้านบาทหรือเป็นสัดส่วนถึง 24% ของจีดีพี ภายในปี 2569

นี่คือโอกาสที่เข้ามา และเราต้องพร้อมในการเปิดรับโอกาส กลยุทธ์ ประกอบไปด้วย ข้อแรก เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน ตนถึงได้เร่งแก้ปัญหาหนี้สิน ให้ประชาชน กลับมามีรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้น ขณะเดียวกัน เราต้องสนับสนุน การทำ Crowdfunding หรือการระดมทุน จากผู้ที่สนใจในไอเดีย หรือธุรกิจ ของชุมชนให้มาร่วมทุนกันสร้างผลงาน พัฒนาต่อยอดในทางเศราฐกิจ เราจะสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เราจะสร้างโอกาสให้คนในชุมชนได้อย่างมหาศาล เป็นแหล่งทุน ที่ไม่ต้องรอรัฐสนับสนุน

ข้อ 2 เมื่อในพื้นที่เกษตรยังเป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อเราอยู่ในยุคที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย การทำเกษตรต้องต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัย ใช้ Data หรือข้อมูล และเทคโนโลยีในการบริหารงานเกษตร เพื่อให้สามารถวางแผนวิธีการทำงานให้เหมาะสมในการสร้างผลผลิต ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสีย และเพิ่มกำไรให้มากยิ่งขึ้นได้

ข้อ 3 การสนับสนุน เรื่องการท่องเที่ยว และการส่งออกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power อีสานมีจุดขายที่โดดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสถานที่ วัฒนธรรม หรือเอกลักษณ์ของผู้คน เราต้องเพิ่มเส้นทางการท่องเที่ยวและต้องรู้ความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมพอสมควร จากที่มาเยือนแล้วถ่ายรูป นักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาสัมผัสกับวิถีวัฒนธรรม ซึ่งตรงนั้น เราต้องปรับตัวให้ทัน

ต่อมา ข้อ 4 เราต้อง ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ผังเมือง สมควรตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อม โครงข่ายการคมนาคมต่างๆจะต้องช่วยให้คนประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สนองตอบคนทุกกลุ่ม มีทางเลือกที่หลากหลาย กับประชาชน กระทรวงมหาดไทย เราคำนึงถึงในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิต อาทิ นโยบายน้ำประปาสะอาดดื่มได้ เป็นต้น

จากนั้น ข้อที่ 5 เราต้องพัฒนาคน และสนับสนุนบทบาทของสถาบันการศึกษา หากเราต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เราก็ต้องมีนักเรียนนักศึกษาในสาย STEM ให้มากขึ้น ซึ่งก็คือ Science, Technology, Engineering และMathematics ซึ่งในส่วนนี้เราก็มีมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีอยู่ในพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนในพื้นที่ต้องไม่ลืมรากทางวัฒนธรรมทั้งความเป็นคนไทย และความเป็นคนอีสาน เพียงแต่ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา

และสุดท้ายข้อ 6 การกระจายความเจริญด้วยกลไกภาครัฐ เราต้องไม่ทำให้เกิดสังคมแบบรวยกระจุก จนกระจาย โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้น กรมพัฒนาชุมชนจะต้องเป็นหน่วยงานหลัก ในการบูรณาการงานพัฒนาด้านต่างๆให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม กองทุนหมู่บ้าน กองทุนออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการ สหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ต่างต้องร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตต่อไป

“ที่สุดแล้ว เราจะต้องให้ความสำคัญทั้งกับการรักษาสิ่งเดิม เพิ่มเติมสิ่งใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากเปิดรับโอกาสทางการค้าการลงทุนที่มากับเส้นทางสายไหมและระเบียงเศรษฐกิจใหม่ ปรับตัวสู่การเกษตรวิถีใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและผลักดัน Soft Power ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย ปรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคน และกระจายความเจริญ เพื่อให้ประชาชนในทุกภาคส่วนได้รับโอกาสอย่างทั่วถึงกัน” นายอนุทิน กล่าว