EA ผนึก สทร. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน EV on Train ส่ง MINE Locomotive ยกระดับคมนาคมทางราง



  • ตอบโจทย์พลังงานสะอาดยุคใหม่
  • สร้างความมั่นคง ด้านพลังงานสะอาด
  • ด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย

ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า แสดงคความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาการขนส่งทางรางให้ทันสมัย สะดวกและปลอดภัย ฉะนั้นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วน ระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ตามนโยบาย Thai First และ MoU ความร่วมมือกับ EA เกิดขึ้นมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบราง อันเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศและกระทรวงด้าน Green and Safe Transport ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2580

ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า สทร. เป็นหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบรางตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมและสร้างอุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ที่ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แต่ต้องผลักดันไปสู่การผลิตและใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการส่งออกไปสู่ตลาดโลก หรือห่วงโซ่คุณค่า ของระบบรางในระดับโลก (Global Value Chain) ความร่วมมือกับ EA จึงถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญระดับประเทศและระดับโลกด้วย 

“การประกาศลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สทร.และ EA จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระบบราง ช่วยยกระดับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม การขนส่งทางรางของประเทศไทย และส่งเสริมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยจะสามารถเป็นผู้ผลิตและออกเทคโนโลยี ระบบรางที่ทันสมัยสู่ตลาดโลก”  

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านเทคโนโลยีระบบราง และพัฒนานวัตกรรมระบบรางไร้มลพิษตอบโจทย์ต่อบริบทของประเทศ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางไปสู่การใช้ไฟฟ้าแทนระบบรถไฟเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ หรือ EV on Train และเริ่มทดลองใช้แล้วในประเทศไทย 

ทั้งนี้ EA ได้นำนวัตกรรมหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (MINE Locomotive) มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curves) ได้เป็นผลสำเร็จ จากการได้รับแรงสนับสนุนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ CRRC Dalian  ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน และได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตพันธมิตรของ EA ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลของการพัฒนา MINE Locomotive จึงนำมาสู่การต่อยอดเส้นทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร  ได้แก่  1. ระบบสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping & Charging Station) สำหรับรถไฟแบตเตอรี่ EV on Train ที่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าเป็นระบบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ มากกว่า 3 MW 2.องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ต้นแบบ ของ EA ที่มีขนาดมากกว่า 3 MW เพื่อเป็นต้นแบบขยายสถานีชาร์จตามแนวเส้นทางรถไฟ  ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งใช้เวลาสั้น (เช่น เพียง 10 นาที) ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติการของระบบรางสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เมื่อพัฒนาต้นแบบและทดสอบแล้วจะนำไปสู่การขยายผลใช้งานในระบบรางของประเทศ  รวมทั้งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตลอดจนด้านการร่วมมือ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (Local Content) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การทดสอบและรับรองว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นได้นั้น มีมาตรฐานและผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ EA ในปี 2566 บริษัทฯมั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่า 50% ตามเป้าหมาย โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจาก EV Ecosystem ทั้งธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า รถเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยไตรมาส 1/2566 รายได้เติบโตกว่า 80% ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจ EV ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯเริ่มมองหาพันธมิตรเข้าลงทุนในชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีพันธมิตรในส่วนของ Battery Management System แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ได้อีกมาก