“ธรรมนัส” สั่งกรมชลเร่งบรรเทา ภัยแล้ง ประชาชน-เกษตรกร

ธรรมนัส ภัยแล้ง
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ธรรมนัส” เร่งประชุมสถานการณ์น้ำ เพื่อบรรเทา ภัยแล้ง พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเชิงรุก ดูแลเกษตรกรในพื้นที่ และขึ้นป้ายศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช รับแจ้งสถานการณ์ด้านการเกษตรและภัยแล้ง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

  • บรรเทา ภัยแล้ง
  • ธรรมนัส ย้ำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเชิงรุก
  • ดูแลเกษตรกรในพื้นที่

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ติดตามสถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้ง

โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการสำนักชลประทาน 17 แห่ง ทั้ง 76 จังหวัด เข้าร่วม ณ ห้องประชุม SWOC ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ และผ่านระบบ Zoom Meeting

ธรรมนัส สั่งกรมชลประทานลงพื้นที่ บรรเทา ภัยแล้ง

ทั้งนี้ รมว.ธรรมนัส ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งแก้ไขสถานการณ์น้ำแบบเชิงรุก ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรทุกภาคส่วน

โดยให้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกลำไยและทุเรียน ที่ในช่วงนี้กำลังออกผลผลิต แต่ประสบภัยแล้ง ได้รับน้ำไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ยังได้เร่งสั่งการให้ขึ้นป้ายศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชทุกจังหวัด เพื่อรับแจ้งสถานการณ์ด้านการเกษตร และสถานการณ์น้ำจากเกษตรกร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

สำหรับสถานการณ์น้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 67) สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 41,458 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 17,516 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33)

ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2566 (43,744 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 57 น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 2,286 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 13.94 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 139.91 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 34,879 ล้าน ลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 30 ของปริมาตร น้ำใช้การ จำนวน 16 อ่างฯ ได้แก่ อ่างฯ ภูมิพล (ร้อยละ 29) อ่างฯ สิริกิติ์ (ร้อยละ 19) อ่างฯ กิ่วคอหมา (ร้อยละ 28)

อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน (ร้อยละ 26) อ่างฯ แม่มอก (ร้อยละ 20) อ่างฯ น้ำพุง (ร้อยละ 27) อ่างฯ จุฬาภรณ์ (ร้อยละ 13) อ่างฯ อุบลรัตน์ (ร้อยละ 21) อ่างฯ ลำตะคอง (ร้อยละ 29) อ่างฯ สิรินธร (ร้อยละ 22) อ่างฯ ป่าสักชลสิทธิ์ (ร้อยละ 15) อ่างฯ กระเสียว (ร้อยละ 7) อ่างฯ ขุนด่านปราการชล (ร้อยละ 17) อ่างฯ คลองสียัด (ร้อยละ 3) อ่างฯ พบพระ (ร้อยละ 29) และอ่างฯ ปราณบุรี (ร้อยละ 20)

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังเป็นประธานเปิดงาน “ชาตินิยม กะพงไทย (Thai Seabass Fest) โดยระบุว่า จากสถานการณ์เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงขาวประสบกับปัญหาราคาปลากะพงขาวตกต่ำ

กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสั่งการให้กรมประมง เร่งดำเนินการแก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

สำหรับ งานชาตินิยมกะพงไทย ครั้งนี้ เป็นอีกกิจกรรมที่จะแก้ไขปัญหาปลากะพงขาว ผ่านการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าปลากะพงไทยที่มีกระบวนการผลิตที่ได้การรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของตลาดภายในประเทศ

โดยภายในงานมีการนำสินค้าปลากะพงขาวและผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตจากฟาร์มที่ได้การรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สด สะอาด และปลอดภัย นำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทั้งแบบสด แช่เย็น แช่แข็ง พร้อมปรุง และพร้อมทานในราคาพิเศษ

รวมทั้งปลากะพงที่ผ่านกรรมวิธีรีดเลือดแบบอิเคะ จิเมะ (Ike Jime) เพื่อรักษาคุณภาพเนื้อปลาให้ยังคงความสด ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการทำปลาดิบ มาจำหน่ายภายในงาน

นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายสินค้าปลากะพงขาวผ่านช่องทางออนไลน์ แบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค และการกระตุ้นกระแสการบริโภคปลากะพงขาวของไทย

และภายในงานยังมีการเจรจาธุรกิจระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาว และผู้แทนจาก Modern Trade ร้านค้าปลีก/ห้าง/สมาคม เพื่อเชื่อมช่องทางการตลาดระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภคโดยตรง

นอกจากนี้ ภายหลังการเปิดงาน ร้อยเอก ธรรมมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมกิจกรรมสาธิตการประกอบอาหารจากปลากะพงขาวให้กับผู้เข้าร่วมงานได้ชมและทดลองชิม

พร้อมเยี่ยมชมบูธนิทรรศการและการแสดงสินค้าปลากะพงขาว อาทิ นิทรรศการการใช้จุลินทรีย์ ปม.1 หรือ ปม.2 กับการเลี้ยงปลากะพงขาว นิทรรศการการเพิ่มมูลค่าสินค้าปลากะพงขาว (กะพงขาว High DHA) นิทรรศการเมนูจากปลากะพงขาว

นิทรรศการมาตรฐานฟาร์มปลาทะเล นิทรรศการคุณค่าทางโภชนาการปลากะพงขาว และร้านค้าต่าง ๆ ภายในงาน อีกทั้งยังได้ร่วมกิจกรรมพบปะพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวผู้แทนจาก Modern Trade และสมาคมต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิดด้านการผลิต การตลาด และการร่วมเป็นเครือขายของทุกภาคส่วนในอนาคต

“จากสถานการณ์ที่ปลากะพงขาวราคาตกต่ำ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกันได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนในการรณรงค์ให้คนไทยหันมาบริโภคปลากะพงขาวให้มากยิ่งขึ้น

ซึ่งปลากะพงขาวนั้นเป็นปลาไทยที่มีสารอาหารที่เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะ DHA ผมเชื่อว่าหลังจากการรณรงค์ในเรื่องการบริโภคให้มากขึ้นแล้ว ราคาสัตว์น้ำประเภทปลากะพงขาวจะมีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม สำหรับการต่อยอดและพัฒนาคุณภาพของปลากะพงขาวนั้น ได้มอบหมายให้กรมประมงและกรมวิชาการเกษตรวิจัยสารจุลิทรีย์ที่จะช่วยแก้ไขกลิ่น ซึ่งซาชิมิปลากะพงถือเป็นข้อพิสูจน์ อย่างนึงว่า ปลากะพงขาวของไทย เป็นเนื้อปลาที่อร่อย ไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งเชื่อมั่นว่า ปลาของไทย สามารถแข่งขันกับปลาต่างประเทศได้อย่างแน่นอน” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

อ้างอิง: กรมชลประทาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: “กรมชลประทาน” เตรียมความพร้อมแก้ปัญหาภัยแล้ง